Tuesday, December 06, 2005

เป็นโรค ไม่สนใจยา ไม่มารักษา ไม่มีวันหาย

สำหรับมนุษย์ผู้ที่หลงเพลิดเพลินอยู่ในวัฏสงสารแดนทุกข์ แต่ไม่เคยเห็นภัยของวัฏสงสาร มัวเพลิดมัวเพลินอยู่ในกิเลสตัณหา คงหมดหนทางที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ไปได้

เนื้อหาทั้งหมดมาจากประวัติหลวงปู่มั่น ถ้าเป็นเพลงก็ชื่อตอนว่า "พระพุทธเจ้าอนุโมทนา" เนื้อหาของเพลงที่สำคัญมีดังนี้

ในพระโอวาทที่ประทานให้มา โดยส่วนใหญ่มีใจความว่า ทราบว่าเธอพ้นทุกข์
อนันตทุกข์ เหมือนลูกโซ่ที่ถูกทำลาย
จนพบทางสว่างไสว สิ้นเยื่อขาดใยภพชาติแห่งตน
จากเรือนจำแห่งวัฏวนสิ้นสุดหลุดพ้นห่างไกล
อันสัตว์ในโลกทั้งหลาย ล้วนพากันติดใจไม่คิดว่ายแหวกออกมา
มัวเพลิดมัวเพลินอยู่ในกิเลสตัณหา เหมือนเป็นโรคไม่สนใจยา ไม่มารักษาไม่มีวันคลาย
เหมือนเป็นโรคไม่สนใจยา ไม่มารักษาไม่มีวันหาย

ธรรมของเราตถาคตเป็นเช่นยา ถึงจะดีและมีคุณค่า แต่คนทั้งหล้า กลับพากันเมินไฉน
แม้ยาจะดีเท่าไหร่ ไม่มีช่วยได้หรอกหนา คงเวียนว่ายตายเกิด ในภพน้อยใหญ่นา ๆ
ไร้จุดหมายปลายทางเลยว่ามาสิ้นสุดตรงไหน ไม่ว่าตถาคตนี้จะมีเพิ่มอีกเท่าใด
กิเลสตัณหาภายในใจ คงไม่เหือดหายเที่ยงแท้แน่นอน
ถ้าไม่รับธรรมช่วยถอดถอน แน่นอนสิ้นทางบรรเทา
มีแต่นับวันอับเฉา เหมือนดังไฟเร้ารุมสุมอยู่ตลอดเวลา
ตายเกิดมีทุกข์ติดมา ก่อเป็นแผ่นมั่นคงแน่นหนา ทั้งก่อกวนยั่วยวนทุกท่า
เชื้อไฟกิเลสตัณหา พาหลงพะวงเรื่อยมา อุราหลงปลื้มลืมตน
แม้นรับธรรมใส่กมล บำเพ็ญต้องพ้นทุกข์สักวัน
แม้รับธรรมรับธรรมใส่กมลต้องหมดสิ้นทุกข์สักวัน
อันนักปราชญ์ฉลาดอาจหาญ ไม่นิ่งนอนเนิ่นนานดักดานหลงผิดติดจอดจม
.....

สัตว์โลกจำนวนมากไม่ค่อยมีผู้สนใจกับทุกข์ ที่เป็นอยู่กับตัวตลอดมาว่า
เป็นสิ่งที่ทรมานและเสียดแทงร่างกายจิตใจเพียงใด
สัตว์โลกอาภัพ เพราะโรคกิเลสตัณหาภายในใจเบียนเบียดเสียดแทง
ทำให้เป็นทุกข์แบบไม่มีจุดหมายว่า จะหายได้เมื่อใด
....

Thursday, December 01, 2005

เทวทูต ๔

สิ่งที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชคือ เทวทูต ทั้ง ๔ ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และ สมณะ ตั้งแต่ท่านประสูติ จนกระทั่งอายุ ๒๙ ปี ท่านไม่เคยได้เห็นสิ่งเหล่านี้เลย ด้วยพระบิดาเกรงว่าท่านจะสละราชบัลลังค์ออกบวชตามคำทำนายของท่าน โกณฑัญญะ ที่ทำนายไว้ในวันตั้งพระนามของพระกุมารว่า พระกุมารของพระองค์จะออกบวช เมื่อเจอ เทวทูตทั้ง ๔ อย่างแน่นอน ท่านก็เลยจัดให้เจ้าชายอยู่ในปราสาท ๓ ฤดู ได้รับแต่ความสะดวกสบาย มีนางสนม และคนรับใช้ล้วนเป็นวัยหนุ่มสาว ไม่มี คนแก่ คนป่วย คนตาย ให้ท่านเห็นเลย ชีวิตท่านก็เลยอยู่แต่กับความสุขสบายตลอดมา จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านเข้าไปในเมืองและได้เห็นเทวทูตทั้ง ๔ ด้วยบารมีที่บำเพ็ญมานับแสนล้านชาติจนเต็มเปี่ยม พร้อมจะบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ทำให้ท่านเห็นทุกข์ ของ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อย่างสุดจิตสุดใจ ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับพยายามดิ้นรนหาทางออกจากทุกข์เหล่านี้ ไม่เหมือนคนบารมีอ่อน ๆ อย่างเราท่าน ที่เห็นแล้วเห็นอีก ไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้มีความสะทกสะท้าน เห็นภัยของวัฏฏะเลยแม้แต่น้อย

ถ้าจะให้เปรียบเทียบคงเสมือนไฟกำลังไหม้บ้าน พอท่านรู้ว่าเป็นไฟ เจ้าชายสิทธัตถะท่านร้อนรนพระทัย ดิ้นรนขวานขวายหาทางออก ให้หลุดพ้นจากกองเพลิงซึ่งจะไหม้มาถึงตัวเองสักวัน ส่วนพวกเรานั้นยังนั่งสบายอารมณ์ กินข้าว ดูหนัง ฟังเพลง เหมือนไม่มีอะไรจะเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ไฟกำลังลุกลามเข้ามา และจะมาถึงตัวเราในวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน มิหนำซ้ำยังมีเสียงจากพระพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลาย ที่ท่านอุตส่าห์บอกเตือนมาด้วยความเมตตาสงสาร แต่พวกเราก็ดูเหมือนจะไม่สนใจและใส่ใจอะไรเลย

เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ต้องไปช่วยงานศพปู่ ตอนที่ไปรับศพของปู่ออกมาจากห้องดับจิต ยืนมองศพท่านแล้วมันสะเทือนใจ และเศร้าใจมาก สาเหตุที่เศร้าไม่ใช่เพราะเสียปู่ไป แต่เศร้ากับตัวเอง ว่าสักวันเราก็จะลงไปนอนอยู่อย่างนั้น แล้วเราจะไปไหน มันเป็นอะไรมี่มืดสนิทมองไม่เห็นอะไรเลย พอ ๆ กันกับมองไปข้างหลัง เพื่อจะดูว่าก่อนเราจะเกิดเรามาจากไหน ก็เห็นแต่ความมืดพอ ๆ กัน เป็นลักษณะ มืดมา มืดไป และก็คงเป็นมานับแสนล้านครั้ง จนนับไม่ถ้วนแล้ว เรายังจะปล่อยให้มันเป็นแบบนี้อีกต่อไปหรือ

หลังจากนั้นก็เดินทางไปแจ้งข่าวให้ญาติผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นรุ่นราวคราวเดียวกันกับปู่ให้ทราบ เห็นแต่ละท่านแล้ว ยิ่งตอกย้ำความสลดสังเวชในชีวิตเข้าไปอีก สภาพร่างกายก็แย่ ป่วยออด ๆ แอด ๆ แค่จะเดินเหินยังลำบาก ส่วนลูกหลานก็ยุ่งอยู่กับงานของเขา ต้องอยู่ไปตามประสาคนแก่ เหมือนนั่งรอวันตาย เพื่อที่จะเดินไปหาความมืดซึ่งเดาไม่ออกเลยว่า สภาพข้างหลังม่านแห่งความตายที่รออยู่นั้นเป็นอย่างไร เราจะต้องแก่แล้วก็จะเป็นแบบนี้หรือ

ความทุกข์ที่เห็นวันนี้ บวกกับความทุกข์ที่เราเห็นจากการเจริญสติอยู่ตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะขยับซ้าย ขยับขวา เดี๋ยวหิว เดี๋ยวเมื่อย เดี๋ยวปวดหัว เดี่ยวปวดอุจจาระ เดี๋ยวปวดปัสสาวะ เดี๋ยวกลุ้มใจ เดี๋ยวกังวลเรื่องอนาคต ฯลฯ สรุปออกมาได้ประโยคเดียว คือ "ชีวิตนี้มันทุกข์ชัด ๆ" ชีวิตนี้มันเต็มไปด้วยทุกข์ ส่วนทางข้างหน้าที่รออยู่ก็ล้วนแล้วแต่ทุกข์ ทุกข์นี้เป็นความจริง ซึ่งเป็นหนึ่งในอริยสัจ ๔ หรือจะเรียกว่า ความจริงของพระอริยะก็ได้เช่นกัน

จิตใจย้อนมาคิดถึงเทวทูตทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าท่านเห็น ไม่บังอาจจะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับท่านว่าเราเห็นและรู้สึกเหมือนท่าน เอาแค่ความรู้สึกส่วนตัวนั้น เราเห็นอย่างประจักษ์ชัดแล้วว่าชีวิตนี้มันทุกข์จริง ๆ คงถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจหนัก ๆ ในชีวิตอีกครั้งแล้ว ว่าจะเดินเส้นทางสายสมณะเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ให้แจ้ง หรือจะปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ตามยถากรรมปล่อยให้ชีวิตลอยตามกระแสสังคมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็จะไปตายทิ้งในวันหนึ่งข้างหน้าเหมือนที่คนอื่นเขาเป็นกัน

ตอนเย็นกลับบ้านไปนั่งคุยกับแม่หลายเรื่อง และก็ถามแม่อย่างจริง ๆ จัง ๆ ว่า การมีลูกมีครอบครัวนั้นดีหรือเปล่า แม่ตอบทันทีและหนักแน่น อย่างเต็มปากเต็มคำว่า "ไม่ดี มันลำบาก"

แม่ของเรานั้นเลี้ยงลูกด้วยความรักและเอาใจใส่ด้วยดีเสมอมา ตอนเด็ก ๆ แม่จะหาผ้าชุบน้ำมาเช็ดเหงือก และฟันน้ำนม หลังจากดื่มนมเสร็จ เพราะกลัวว่าปากและฟันของลูกจะไม่สะอาด เวลาจะอาบน้ำต้องไปปิดหน้าต่างของบ้านให้หมด กลัวว่าลูกจะโดนลม แล้วไม่สบาย ไม่ได้ทำอะไรมักง่ายเหมือนคนอื่น ๆ เขา ลูกทั้งสามคนก็เติบโตมา สุขภาพแข็งแรง นิสัยอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่เหลวไหลเสเพล เรียนจบมหาวิทยาลัยของรัฐ ในคณะที่มีหน้ามีตาของสังคม ทุก ๆ คน ไม่น่าเชื่อเลยว่าแม่จะบอกว่าการมีลูกนั้น "ไม่ดี" แล้วยิ่งมองออกไปข้างนอก เห็นชาวบ้านเขาเดือดร้อนเพราะลูกเกเร หาที่เรียนไม่ได้ เรียนไม่จบ ติดยา เมาเหล้าประสบอุบัติเหตุ พิกลพิการ ฯลฯ เขาจะลำบากและทุกข์แค่ไหน

เช้าวันรุ่งขึ้นไปนั่งคุยกับย่า ก็ถามคำถามเดียวกันอีก คุณย่าตอบแบบสรุปให้ฟังรวบยอดไปเลยว่า ไม่ต้องแต่งงานมีลูกมีเมียหรือมีสามีหรอกมันลำบาก ถ้าเป็นไปได้ไปบวชเลย จะดีที่สุด ถ้าจะมารอบวชตอนแก่มันลำบาก นั่งก็ปวด ลุกก็ปวด จะภาวนาอย่างเข้มข้นก็ทำไม่ได้ เพราะร่างกายมันไม่อำนวย ไม่เหมือนวัยหนุ่มสาวที่มีกำลังพอจะทำได้ แล้วย่ายังทิ้งท้ายด้วยว่า สิ่งที่สำคัญคือ ต้องหาอาจารย์ดี ๆ ด้วย เพราะท่านจะได้แนะนำได้ถูก ไม่หลงทาง ไม่งั้นเดี๋ยวลำบากเปล่า ๆ

คนที่มีประสบการณ์ผ่านโลกมา ๕๓ ปี กับ ๗๓ ปี ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันอย่างหนักแน่นขนาดนี้ เราควรจะใส่ใจให้มาก ว่าเรายังจะปล่อยให้ตัวเองกลิ้งไปตามทางที่ท่านผ่านมาแล้ว และยืนยันว่ามันไม่ดีอยู่อีกหรือ และองค์ประกอบความพร้อมหลายอย่างก็ดูสมควรตามเหตุผล จิตที่เดินทางมาก็คิดว่าถูกทางแล้ว ญาติพี่น้องส่วนใหญ่ก็เห็นสมควร อาจารย์ที่ดีก็มีแล้ว อะไร ๆ ในโลกที่เคยคิดเคยหวังว่าอยากจะได้ จิตก็แทบจะไม่ดิ้นรนอะไรแล้ว เหลือเพียงปัญหาและภาระเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นที่ต้องจัดการให้เสร็จ คงใช้เวลาไม่นานนัก

เหตุผลอีกอย่างที่ทำให้ต้องรีบทำเมื่อมีโอกาสก็คือ คนในสังคมนี้มีหลายคนที่ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำแบบนี้กันได้ทุกคน เวลาเราเดินไปเห็นคนที่เขาไม่มีแม้แต่สิทธิ์ที่จะทำแล้วมันก็สะกิดใจเราทุก ๆ ครั้งไป เช่นเวลาเดินไปเห็นคนพิการแขนขาด ขาขาด ก็จะคิดว่าโชคดีที่เราไม่เป็นแบบนั้น โชคดีที่เราไม่ได้เป็นเอดส์ โชคดีที่เราไม่ได้ปากเบี้ยวปากแหว่ง โชคดีที่เราไม่ได้ปัญญาอ่อน โชคดีที่เราไม่ได้ติดคุก โชคดีที่เราไม่ได้เป็นอัมพาต โชคดีที่เราไม่ได้เป็นกะเทยเกิดมาผิดเพศ โชคดีที่เราไม่ตาบอด โชคดีที่เราไม่หูหนวก โชคดีที่เราไม่ได้เกิดเป็นเดรัจฉาน ฯลฯ เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าเราเป็นแม้แต่อย่างเดียวก็หมดสิทธิ์ที่จะเดินเส้นทางสายสมณะ ถ้าวันหนึ่งเราเกิดพลาดมีอะไรเกิดขึ้นกับเราก็เป็นอันหมดสิทธิ์ ถ้าวันนั้นมาถึงเราจะไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะตัดสินใจเลือกว่าจะไปหรือไม่ไป

คำถามสำหรับตัวเองวันนี้ไม่ได้ถามว่า จะไปหรือไม่ไปดี แต่เป็นคำถามที่ว่า จะไปให้เร็วที่สุดเมื่อไหร่ดี

Tuesday, November 29, 2005

ผ่อนอาหาร

ตั้งแต่ลาสิกขามาจนถึงวันนี้ น้ำหนักขึ้นมาประมาณ ๑๐ กิโลกรัม รู้สึกว่าอึดอัด และก็ขี้เกียจ การกินเยอะก็จะนอนเยอะ ชักจะเหมือนหมูเข้าไปทุกวัน ก็เลยเริ่มลดอาหาร กินเฉพาะตอนเช้า แล้วไม่กินอะไรอีกเลยนอกจากน้ำเปล่า และตอนเย็นก็กินน้ำส้มคั้น โดยคั้นเอง บ้างในบางวัน

วันสองวันแรกตอนเย็น ๆ จะรู้สึกหิวเพราะร่างกายมันเคยชิน แล้วความหิวมันก็กระเทือนขึ้นมาถึงจิต ทั้ง ๆ ที่ความหิวกับจิต มันคนละอันกัน จิตก็จะดิ้นรนอยากกินนู่นอยากกินนี่ มันทนไม่ได้ มันไม่ชอบสภาวะแบบนั้น อะไรของมันก็ไม่รู้แค่นี้ก็จะเป็นจะตาย แต่ไม่ยอมทำตามมัน สุดท้ายก็ไม่เห็นมันเป็นอะไร มันมีแต่จะหาเหตุผล อ้างนู่น อ้างนี่ อ้างว่าต้องทำงาน ใช้พลังงาน เดี๋ยวไม่มีแรง เดี๋ยวสมองเสื่อม มีแต่กิเลส ห่วงตัวเองทั้งนั้น

วันที่ ๓ - ๔ เริ่มสบายตัวขึ้นมาก ตัวเริ่มเบา ไม่อึดอัด แล้วก็ไม่ค่อยรู้สึกหิวด้วย เพราะร่างกายเขาปรับของเขาได้แล้ว

ผ่านไป ๗ วัน น้ำหนักหายไป ๓ - ๔ กิโลกรัม ร่างกายก็เบาสบาย ไม่วุ่นวาย กับอาหารการกินเหมือนแต่ก่อน เดี๋ยวข้าวเที่ยง เดี๋ยวข้าวเย็น เดี๋ยวขนม เดี๋ยวน้ำหวาน วุ่นวายไปหมด อยู่แบบนี้สบายดี ว่าจะทำอย่างน้อยซักหนึ่งเดือน แต่ถ้าทำได้ตลอดไปคงจะดีมาก

Monday, November 28, 2005

คุณปู่สิ้นบุญ

วันนี้เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา ๔๕ นาที ปู่ได้เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ครั้งสุดท้ายที่เห็นหน้าปู่คือ วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๘ ตอนนั้นเราบวชแล้วเดินทางไปหาปู่ตั้งใจว่าจะไปสอนธรรมะ เหมือนกับที่สอน ย่า ตา ยาย แต่ก็ไม่ได้ผลเพราะปู่ท่านความจำเริ่มเสื่อมไปเสียแล้ว คุยกันไปแป็บเดียวก็จำไม่ได้ และล่าสุด วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ ที่ผ่านมาได้ทราบข่าวว่าท่านอาการหนักหลังจากเข้าโรงพยาบาลมา ๓ - ๔ วัน และสุดท้ายก็มาเสียชีวิตวันนี้ ต้องวางอุเบกขา เพราะไม่รู้จะช่วยท่านได้ยังไง จนปัญญาของเราจริง ๆ

จิตใจนั้นไม่กระทบกระเทือนเท่าไหร่นัก เพราะทราบอาการของปู่มาเป็นระยะแล้ว และจิตใจมันก็พอที่จะเข้าใจธรรมชาติของความตายพอสมควรแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มันย้อนมาหาตัวเองว่า ถ้าสมมุติเราตาย วันนี้ ตอนนี้เหมือนกับปู่ จะเป็นยังไง คนทั่ว ๆ ไปเวลาตายก็ไม่รู้ว่าจะไปไหน จิตใจก็โดนแรงแห่งกรรมส่งไป ส่วนเจ้าตัวนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย กลิ้งไปเหมือนลูกบอลที่โดนกรรมเขาเตะไปซ้ายที ขวาที ข้างล่างที ข้างบนที

ช่วงนี้ได้รับข่าวจากคนรอบข้างค่อนข้างเยอะ พี่สาว กับ เพื่อนก็พึ่งคลอดลูก น้องที่รู้จัก กับเพื่อนอีกคน ก็พึ่งแต่งงาน เพื่อนอีกคนก็กำลังจะรับปริญญา ญาติที่รู้จักก็ป่วยมาเป็นปี สุดท้ายก็ได้ข่าวว่าปู่เสียชีวิต ครบทุกสูตร เลย ตั้งแต่เกิด เรียนจบรับปริญญา แต่งงาน มีลูก แก่ แล้วก็ตาย ชีวิตมันมีเพียงแค่นี้เองหรือเนี่ย ชีวิตเกิดมาดิ้นรนกันไปสุดชีวิต แล้ววันหนึ่งก็มาตายทิ้งกันไปเฉย ๆ ดิ้นรนแทบตาย ดิ้นเพื่อจะไปตายข้างหน้านี้เอง เห็นแล้วก็เกิดความสลดสังเวชใจในชีวิตมนุษย์ของเราที่ดิ้นรนวุ่นวายอยู่ไม่หยุดหย่อน เส้นทางสายนี้ทำไมมันรันทดเช่นนี้

ไปอีกทางดีมั๊ย ทางสายเอกที่พระพุทธองค์ท่านประทานไว้ "มหาสติปัฏฐาน"

Monday, November 14, 2005

สติหายไปไหน

สี่ห้าวันที่ผ่านมา สติไม่ค่อยดี กว่าจะรู้สึกตัวแต่ละครั้งใช้เวลานานมาก บางครั้งไปอยู่ในโลกของความคิดเป็นชั่วโมง กว่าจิตจะถอยขึ้นมารู้สึกตัวแต่ละครั้ง วันนึงได้แค่ร้อยกว่าครั้งเองมั๊ง ปกติไม่น้อยและทิ้งระยะนานขนาดนี้ เหตุปัจจัยคืออะไรก็ยังไม่รู้ ท่านอาจารย์เคยสอนว่า ถ้าทำอะไรแล้วสติเกิดเองบ่อย ๆ ให้ทำอันนั้นบ่อย ๆ ปกติถ้าผมล้างจานสติจะเกิดดี แต่เสียดายจานที่บ้านมีไม่ค่อยเยอะล้างแป็บเดียวก็หมด บางคนเขาเดินห้างแล้วสติเกิดดี ก็ไปเดินห้างบ่อย ๆ บางคนนั่งรถเมล์แล้วสติเกิดดีก็ไปนั่งรถเมล์บ่อย ๆ ส่วนอะไรที่ทำแล้วสติหายไปนาน ๆ ไม่ควรทำ เช่นนั่งดูละครแล้วจิตหายไปในจอทีวีเป็นชั่วโมงเลยอันนั้นไม่ควร แต่บางคนเขาดูทีวีแล้วสติเกิดดีก็มี ไม่เสมอไป แล้วแต่จริต

แต่ที่แน่ ๆ คือมันเป็นอนัตตาแน่นอน เพราะเวลามันจะดี มันก็ดีของมันเอง เวลามันจะหายมันก็หายของมันเอง ควบคุมให้อยู่ใต้อำนาจของเราไม่ได้เลย (แล้วเรานี่ใครหว่า? ในเมื่อเรามันไม่มี)

Thursday, October 20, 2005

อาจารย์ให้พร อันเป็นมหามงคล (ครั้งที่ ๕)

ออกเดินทางจากโคราชตั้งแต่เย็นเมื่อวานพร้อมกับแม่และน้องชาย ระหว่างการเดินทางได้เปิดเพลงประวัติหลวงปู่มั่นให้แม่และน้องชายฟัง และก็พยายามอธิบายนิด ๆ หน่อย ๆ พอไปถึงกรุงเทพฯ ก็เข้าไปพักกับน้องสาว ตอนเช้าตื่นตี ๔ เดินทางไปกาญจนบุรีตั้งแต่เช้า วันนี้ตั้งใจจะไปใส่บาตรท่านอาจารย์ให้ได้ แต่ก็ไม่ทันอีกแล้ว คิดว่าท่านคงบิณฑบาตกลับมาแล้ว แต่ก็ยังดีหน่อยที่ได้ถวายอาหารที่เตรียมมา

วันนี้มาทันช่วงเช้าเป็นครั้งแรกพอเริ่มต้น แต่ละคนก็ถามใหญ่ ดูคำถามแต่ละคนใช้ได้ทีเดียว หลายคนเก่งทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ เราก็ไม่ได้คุยกับท่านเพราะเวลาไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ วันนี้ท่านอาจารย์อธิบายเรื่องจิตขณะเขาปฏิวัติตัวเองหรือพลิกภูมิ จนกระทั่งถึงขณะจิตที่เขาแหวกโมหะ แล้วปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ให้กลับไปอยู่กับธรรมชาติ จักรวาล ไม่ยึดถือเอามาเป็นของตนอีกต่อไป สำหรับผมเป็นธรรมเทศนาที่ลึกซึ้งมาก และท่านก็เสริมอีกว่าบางครั้งจิตมันเจ้าเล่ห์มาก เราปฏิบัติไปเหมือนก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ จู่ ๆ วันนึงมันแสดงละคร หลอกเราก็มี แสดงเป็น ฉาก ๆ หลอกเราว่าเราได้ขั้นนั้นขั้นนี้ ต้องระวังให้ดีเดี๋ยวโดนมันหลอกเอา หลายคนมาที่นี่นึกว่าตัวเองได้ขั้นนั้นขั้นนี้มีอยู่หลายคน แล้วท่านก็ให้พรฉันอาหาร

หลังจากนั้นก็มานั่งกินข้าวกับเพื่อน ๆ ด้านล่าง ก็เลยถามน้องสองคนว่ารู้เรื่องหรือเปล่า ทั้งสองคนตอบเหมือนกันว่าไม่รู้เรื่องเลย เพราะไม่มีความรู้ธรรมะติดหัวมาเลยแม้แต่น้อย นี่เป็นปัญหาที่สำคัญของสังคมไทยอีกแบบ เด็กโตมาจนมีอายุขนาดนี้ (มากกว่า ๒๐) แน่นอนชีวิตต้องมีปัญหาและความทุกข์ แต่เครื่องมือสำคัญในการจัดการกับทุกข์ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านประทานไว้ แทบจะไม่มีอยู่ในมือของคนไทยเอาเสียเลย ก็เลยต้องปล่อยให้จิตใจกลิ้งไป ตามแรงกระทบกระทั่งของอารมณ์ต่าง ๆ โดนซ้ายทีขวาที ไม่มีอะไรพอที่จะไปแก้ไขรับมือหรือต่อกรได้เลย ก็เลยบอกน้องว่าสงสัยอะไรให้ถามอาจารย์เลย น้องเขาก็บอกว่าเขาไม่รู้อะไรเลย และก็ไม่เคยปฏิบัติธรรมมาก่อนเลย ผมก็บอกว่าไม่เคยปฏิบัติก็บอกอาจารย์ว่าไม่เคยปฏิบัติ

ช่วงสายอาจารย์ก็เริ่มถามว่าแต่ละคนภาวนาเป็นอย่างไรบ้าง พอมาถึงเรา เราก็ถามอาจารย์ในเรื่องที่สงสัยคือเรื่องศีล ว่าศีลตัวเองบริสุทธิ์พอหรือยัง จะรู้ได้ยังไง เรายกตัวอย่างเช่นตอนเช้าเราอาบแล้วมดอยู่บนพื้นห้องน้ำมันตายถือว่าศีลเราด่างพร้อยหรือเปล่า อาจารย์ก็ถามว่าเรามีเจตนาหรือเปล่า ถ้าไม่มีเจตนาศีลก็ไม่ขาด เพราะไม่ครบองค์ประกอบ องค์ประกอบที่ทำให้ศีลข้อ ๑ ขาด จะต้องประกอบด้วย ๕ อย่างคือ ๑. รู้ว่าสัตว์มีชีวิต ๒. สัตว์นั้นมีชีวิตจริง ๆ ๓. มีเจตนาที่จะฆ่า ๔. ได้ลงมือฆ่า ๕. สัตว์นั้นได้ตายเพราะการฆ่า ถ้าไม่ครบทั้ง ๕ ข้อนี้ ก็ไม่ถือว่าศีลขาด ท่านถามเราว่า เรามีเจตนาจะอาบน้ำหรือจะทำให้มดเปียกน้ำ เราก็ตอบว่าเราจะอาบน้ำ แล้วท่านก็เล่าให้ฟังว่าท่านก็เคยเป็นเหมือนกัน ตอนสมัยไปอยู่วัดป่าพอจะอาบน้ำกลัวมดเปียก ท่านก็หนีไปอาบที่อื่น พระรูปหนึ่งก็มาบอกท่านว่า เป็นลักษณะของการวิตกกังวลในศีลเกินเหตุ (ท่านบอกภาษาบาลีด้วยแต่ผมจำไม่ได้) ศีลมีไว้ให้รักษาแล้วรู้สึกสบายไม่เกิดการเบียดเบียน ไม่ใช่รักษาศีลแล้วอึดอัด แต่ท่านก็สรุปตอนท้ายว่า แล้วอย่าไปเจ้าเล่ห์เด็ดขาด ทำเป็นแกล้งไม่มีเจตนา แต่มือไปโดนตายเอง อะไรแบบนั้นไม่ได้ แล้วท่านก็บอกให้เราทำสมถะบ้าง สวดมนต์ไหว้พระ ในถานะที่พระพุทธเจ้าท่านเป็นครูของเรา เราเป็นศิษย์มีครูต้องกราบไหว้ท่านซึ่งถือเป็นบรมครูเพื่อแสดงความเคารพ เป็นผู้กตัญญูรู้คุณ เสร็จแล้วก็นั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง นิด ๆ หน่อย ๆ วันละ ๑๕ - ๒๐ นาที ไม่ต้องทำมาก แล้วอย่าไปตั้งสัจจะ ว่าจะนั่ง ๓ ชั่วโมง เดินจงกรม ๓ ชั่วโมงอะไรแบบนั้น ให้ทำนิด ๆ หน่อย ๆ ก็พอ (สงสัยท่านรู้ว่าเราไม่ค่อยทำสมถะ และก็เป็นคนขี้เกียจแน่เลย)

ก็เลยกราบเรียนท่านเรื่องปฏิบัติว่าเมื่อก่อนจะมีคำถามผุดขึ้นในใจบ่อย ๆ ว่า "ตอนนี้รู้สึกตัวอยู่หรือเปล่า" แต่ก่อนจะติดตรงนี้มากคือจะสงสัยว่าตัวเองรู้สึกตัวอยู่หรือเปล่า แต่เดี๋ยวนี้ไม่ติดแล้ว เพราะพอจิตมันสงสัยแบบนี้ขึ้นมา จะตอบสวนมันไปทันทีว่า "ตอนนี้มึงหลงอยู่ มึงกำลังสังสัยอยู่ มึงไม่ได้รู้สึกตัว" แล้วความสงสัยก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว ท่านก็แนะนำให้รู้ทันจิตที่สงสัยไปเลย (ตรงนี้เวลาปฏิบัติจริงไม่ใช่เรื่องง่าย)

ในขณะที่ท่านกำลังตอบคำถามคนอื่นอยู่นั้น เราก็นั่งฟังไปรู้สึกตัวไปเรื่อย ๆ แบบมั่ว ๆ ตามที่ตัวเองทำมา เพราะไม่รู้ว่าอันที่ถูกนั้นมันเป็นยังไง (อาจารย์เคยแนะนำว่าให้รู้อันที่ไม่ถูกทั้งหมดเดี๋ยวมันจะถูกเอง) แล้วจู่ ๆ อาจารย์ก็หันมาหาเราแล้วก็พูดว่า "เมื่อกี้นี้ถูกนะ ตอนที่เผลอ ๆ แล้วมันรู้สึกตัวขึ้นมาเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ" เกิดมาไม่เคยได้ยินว่าตัวเองทำถูกมาก่อน และก็ไม่คิดว่าจะได้ยินด้วยซ้ำ เพราะยังมั่วอยู่มาก เราก็พยายามย้อนนึกไปดูว่า ไอ้จิตแบบเมื่อกี้ที่อาจารย์ท่านบอก มันตอนไหน เพราะมันจำไม่ได้ มันเกิดความสงสัยแล้วก็พยายามย้อนค้นหาไปในความจำว่าสภาวะเมื่อกี้ที่อาจารย์ท่านบอกมันคือตอนไหน แต่มันก็ไม่รู้มันหาไม่เจอ แล้วอาจารย์ก็พูดว่า "ตอนนี้ไม่ใช่แล้วนะ แต่เมื่อกี้นี้ใช่ ตอนนี้คิดอยู่รู้มั๊ย" ไม่รู้หรอกครับเพราะมันจะหาให้ได้ว่าไอ้จิตแบบเมื่อกี้นี้มันเป็นยังไง สุดท้ายก็หาไม่เจอก็เลยปล่อยมันทิ้ง ช่างหัวมัน แล้วอาจารย์ก็คุยกับคนอื่นต่อ ส่วนเราก็แอบปลื้มหน่อย ๆ ในที่สุดก็ถูกซักครั้ง

แล้วอีกช่วงอาจารย์ก็หันมาถามเราว่า "ตอนนี้ทำอะไรอยู่" เราก็ดูตัวเองเห็นเป็นว่าง ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าง เพียงแต่มันไม่มีความคิดที่เป็นคำ ๆ หรือเป็นประโยค พูดแจ้ว ๆ เหมือนปกติที่มันเป็น แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรอยู่ จะตอบอาจารย์ว่าทำอะไรอยู่ก็ตอบไม่ได้เพราะมันไม่รู้ มันเป็นสภาวะที่แปลกมาก นั่งดูจิตตัวเองอึ้งอยู่นาน ตอบอาจารย์ไม่ได้ อาจารย์ท่านก็เลยยิ้มเบา ๆ แล้วก็พูดว่า "กำลังคิดอยู่รู้หรือเปล่า" อะไรนะแบบนี้ก็เรียกคิดเหรอ มันเป็นสภาวะคิดที่แปลกมาก มันคิดแบบไม่มีคำพูดก็ได้หรือนี่ ประหลาดจริง ๆ ชักงงกับสภาวะแบบนี้กันใหญ่ ก็ไม่เข้าใจอยู่ดี สุดท้ายก็ปล่อยมันทิ้ง กลับมารู้สึกตัวแบบมั่ว ๆ แบบเดิมที่ตัวเองถนัดดีกว่า

แล้วช่วงสุดท้ายอาจารย์ก็หันมาทางเราแล้วก็บอกเราว่า เราเนี่ยภาวนาดีนะ เอ๊ะเราหูฝาดไปหรือเปล่า ฝาดไม่ฝาดก็ช่างมัน อาจารย์ท่านบอกว่าดี ก็รับไว้ก่อน ก็เลยตอบท่านว่า "ครับ" ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้หรอกว่าไอ้คำว่าภาวนาดีนี่มันดียังไงเพราะมันยังมั่ว ๆ อยู่เลย แล้วท่านก็ถามต่อว่า "จะบวชเมื่อไหร่" เราไม่เข้าใจคำถามว่าท่านหมายถึงตอนที่เราบวชครั้งที่แล้วหรือเปล่า ท่านก็เลยบอกว่า "อันที่แล้วก็แล้วไป อันใหม่นี่จะบวชเมื่อไหร" คำถามนี้ก็ไม่คาดคิดอีกเหมือนกัน แต่ใจก็ไม่ได้รู้สึกแปลกกับคำถามนี้ ก็เลยตอบท่านไปว่า ตั้งใจไว้ว่าจะบวชอยู่ครับ แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าวันไหน ท่านก็ถามว่า "ยังมีบางอย่างติดค้างอยู่เหรอ" เราก็ตอบว่า ครับ ท่านก็บอกว่า "ก็จัดการให้เสร็จแล้วก็มาบวชซะ แล้วก็ทำให้จบในชาตินี้" ได้ยินคำนี้ไม่รู้จะบอกความรู้สึกว่าอย่างไรดี แล้วท่านก็พูดต่อว่า "ไม่ต้องรอชาติหน้า ชาติต่อไปหรอก" เกิดมาผมไม่เคยรู้สึกซึ้งถึงการรับพรเท่าไรนัก เพราะปกติเวลาทำบุญก็ไม่ได้ต้องการพรจากพระท่านอยู่แล้ว ทำไปถ้าได้มันก็ได้เองถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ได้ทำบุญเพื่อที่จะเอาอะไรอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเวลาพระท่านให้พรจิตผมจะเป็นธรรมดากลาง ๆ แต่สิ่งที่อาจารย์กล่าว ผมว่ายิ่งกว่าพร เป็นมหามงคล มหาพร ตั่งแต่เกิดมาคิดว่านี่เป็นพรที่ดีที่สุดในชีวิต ไม่มีอะไรมาเปรียบเทียบได้ ชาตินี้ผมจะทำจบจริงหรือไม่ก็ช่างมัน แต่ได้มาเจออาจารย์ที่ดี ๆ เก่ง ๆ มีเมตตาสูง อย่างนี้ท่านมาให้กำลังใจก็ถือว่าเป็นมงคลอันยิ่งของชีวิตแล้ว

บุญคุญที่ท่านมีต่อเราตั้งแต่วันที่เริ่มต้นภาวนาจนถึงวันนี้ ไม่รู้ตอบแทนอย่างไรถึงจะหมด สิ่งที่พอจะตอบแทนได้อย่างสมน้ำสมเนื้อคงไม่ใช่ข้าวของเงินทองหรือสิ่งอื่นใด นอกจากการ ปฏิบัติภาวนา เพื่อเป็นสิ่งบูชาที่ท่านอุตส่าห์ยอมลำบากลำบนสอนกว่าจะเข้าใจ ทำได้แต่ละขั้นแต่ละตอน

ส่วนน้องชาย น้องสาว และแม่นั้นท่านก็แนะนำให้ตามสมควร สำหรับผู้มาใหม่ ดูแล้วน้องชายจะเข้าใจเร็วกว่าคนอื่น ส่วนแม่นั้นยังติดในขั้นความคิดของตัวเองอยู่เยอะ ต้องถอดตรงนี้ออกให้ได้ก่อน ไม่งั้นคงไม่ถึงไหน

แล้วก็กราบลาท่านเดินทางกลับ วันนี้สติดีทั้งวัน มันดีจริง ๆ นะ ดีตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั่งไปวัด ขับรถกลับจนถึงโคราชมันดีตลอดทางเลยนะ ไม่น่าเชื่อ ไม่รู้ว่ามันดีเพราะนอนน้อย หรือดีเพราะท่านอาจารย์ให้กำลังใจกันแน่

วันนี้เป็นวันที่น่าจดจำอีกวันหนึ่งของชีวิต

Sunday, October 02, 2005

ธรรมะประสาย่าหลาน ในยุคไอที

ตั่งแต่เด็ก ๆ ย่าจะเป็นคนที่สอนธรรมะผม ย่าพยายามสอนผมว่าให้เป็นคนดี ให้อยู่ในศีลกินในธรรม ย่าสอนผมให้หัดภาวนา แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าเหตุการณ์จะเปลี่ยนไป เหมือนกับย่าขึ้นบันไดไปอยู่ขั้นที่หนึ่งแล้วพยายามดึงให้ผมขึ้นบันไดไปด้วย พอผมขึ้นไปผมก็ก้าวขึ้นต่อไปไม่หยุดอยู่กับที่ ขึ้นไปขั้นที่สองขั้นที่สาม แต่พอหันกลับมามองดูย่าพบว่า อ้าว... ทำไมย่า ยังอยู่ที่เดิม

นับตั้งแต่ผมมาศึกษาอย่างจริงจัง อ่านหนังสือ อ่านพระไตรปิฎก และคิดพิจารณาตามเหตุตามผล ผมก็มารู้ว่าย่ายังเข้าใจพระพุทธศาสนาคลาดเดลื่อนไม่ตรงมุมที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเท่าไรนัก มีความคลาดเคลื่อนอยู่หลายจุด อีกทั้งการปฏิบัติตนนั้นก็ย่อหย่อนกว่าผมเสียอีก ยกตัวอย่างง่าย ๆ ศีลห้านั้นผมตั้งใจรักษาอย่างเต็มที่ไม่ให้ขาดตกบกพร่องแม้แต่น้อย ส่วนย่านั้นยังขาดเป็นประจำอยู่ตั้งสองข้อก็คือ ฆ่าสัตว์เพื่อประกอบอาหาร และ มุสา เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถึงอย่างไรย่าก็เป็นคนดีเมื่อเทียบกับคนทั่ว ๆ ไป

ด้วยเหตุที่อายุของย่าตอนนี้ก็ ๗๐ กว่าปีเข้าไปแล้ว คงมีเวลาเหลืออยู่ในโลกนี้อีกไม่นานนัก ขันธ์ก็เริ่มทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณเท่าที่กำลังพอจะทำได้ ผมจึงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะทำให้จิตใจของย่ามีพัฒนาการมากกว่านี้ หรืออย่างน้อยถ้าปฏิบัติยังไม่ได้ก็ให้มีความเห็นที่ถูกต้องตามคำสอนของพระบรมศาสดา ผมพยายามสอนย่ามาหลายครั้งแต่ทุก ๆ ครั้งก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยสำฤทธิ์ผลเท่าไรนัก ตั้งแต่สอนคนมาทั้งหมดรู้สึกว่าสอนย่านี้ยากที่สุด การสอนคนที่ไม่ค่อยรู้อะไรเลยง่ายกว่าการสอนคนที่รู้มาแล้ว เพราะการสอนคนใหม่ ๆ เป็นการถ่ายทอดข้อมูล ความรู้ และความเห็น ไปให้เขาเท่านั้น แต่สำหรับคนที่มีความรู้มาแล้วเขาจะมี ทิฐิ คือความเห็น และ มานะ คือความถือตัวว่าตัวเองรู้แล้ว เข้าใจแล้ว จึงไม่ค่อยยอมลงใครง่าย ๆ ต้องงัดสารพัดวิธี สำหรับย่าแล้วผมพยายามทำทุกวิถีทาง ตั้งแต่สอนแบบธรรมดา เอาหนังสือมาเปิดอธิบาย บวชใส่ผ้ากาสวพัสตร์ อยู่ในเพศบรรพชิต เดินทางไปสอน เพื่อให้น้ำหนักของคำพูดมีมากพอที่จะไปเปลี่ยนแปลงความคิดเดิม ๆ รวมทั้งยกพระไตรปิฎกมาอ้างเพื่ออธิบายใจความสำคัญต่าง ๆ แต่ทุกครั้งก็ดูจะไม่สำฤทธิ์ผลเท่าไรนัก

จนกระทั่งครั้งสุดท้ายใช้คอมพิวเตอร์เปิดเพลงประวัติหลวงปู่มั่นที่ เพลิน พรหมแดน ท่านร้องไว้ พร้อมกับเปิดรูปของหลวงปู่มั่นค้างไว้ที่หน้าจอ แล้วพาย่านั่งฟังตั้งแต่ต้น ฟังไปเรื่อย ๆ ถึงตรงไหนสำคัญก็หยุดเพลงไว้อธิบาย เน้นใจความสำคัญ พอเข้าใจแล้วก็เปิดต่อ รู้สึกว่าวิธีนี้ความเห็นใหม่ ๆ ที่ถูกต้องจะแทรกเข้าไปในจิตใจของย่าได้ง่ายกว่า เพราะถ้าเปรียบเทียบกับคำพูดของเราอย่างเดียวนั้นไม่มีน้ำหนักมากพอ ส่วนประวัติของหลวงปู่มั่นนั้น จะว่าไปแล้วเหมือนแทนคำพูดขององค์หลวงปู่ท่าน แล้วเราเป็นเพียงผู้อธิบายขยายความเท่านั้น ปกติย่าของผมท่านมีความศรัทธาในองค์หลวงปู่มั่นอยู่แล้ว ก็เลยทำให้ทุกอย่างดูราบรื่นและสำฤทธิ์ผล


รูป หลวงปู่มั่น ที่เปิดให้ย่าดู
(ไฟล์ต่าง ๆ ที่ผมอ้างอิง สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.pupasoong.com ครับ)
(ใครไม่เคยฟังผมแนะนำอย่างยิ่งนะครับฟังซักรอบไม่เสียชาติเกิดครับ)

เริ่มบรรเลงด้วยดนตรี เสียงกลอง เสียงขลุ่ย เสียงระนาด เสียงปี่ และเครื่องเป่าต่าง ๆ ที่ผสมผสานอย่างลงตัว และเนื้อร้องก็เริ่มขึ้น "น้อมกาย ยอ กร ก้มกราบแนบแทบท้าวท่าน นพอภิวันหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระบูรพาอาจาริโย นอบน้อมมโนเทิดวันทาบูชายิ่งล้ำ อ่านดูข้อวัตร ประวัติผ่านมา แล้วยิ่งศรัทธาจนเกินไขคำ ฝังใจไม่ลืม ปลาบปลื้มดื่มดำ เหมือนได้ฟังธรรม สมัยไกลสุดแห่งพุทธกาล...."

เรื่องราวประวัติของหลวงปู่มั่นเริ่มตั้งแต่ท่านเกิดที่ไหน เมื่อไหร่ บุคลิกท่านเป็นอย่างไร ครอบครัวของท่านเป็นยังไง ท่านบวชอย่างไร จนกระทั่งได้ฉายาว่า ภูริทัตโต

แล้วก็ต่อด้วยเพลงที่สอง "บวชแล้วแน่แน่วศึกษา วิปัสสนากัมมัฏถานเพียรเฝ้า ไม่เว้นทั้งเย็นและเช้า สำนักอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ที่วัดเลียบเมืองอุบล เริ่มต้นอดทนหักโหม ไม่ลดละ ภาวนาพุทโธ น้อมมโนไม่นึกหน่าย เวียนพากเพียรจนได้ ใจนั้นเริ่มมั่นแน่นหนา สติคอยเตือนไม่ลางเลือนคำภาวนา...."

ท่านเริ่มภาวนาด้วยการบริกรรมพุทโธ ขณะอยู่กับหลวงปู่เสาร์ จนจิตรวมไปเห็นนิมิตต่าง ๆ เป็นเรื่องราว ยาวยืด นับไม่หวาดไม่ไหว จารไนยไม่หมดเพราะมันปรากฏเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แตกต่างกันไป ไม่มีประมาณ ท่านติดนิมิตแบบนั้นอยู่ถึงสามเดือน จนกระทั่งสุดท้ายท่านรู้ว่าไม่ถูกทาง เพราะตอนที่อยู่ในสมาธินั้นรู้สึกว่าดี แต่พอออกจากสมาธิประเภทนี้ จิตใจกระทบกับอารมณ์ต่าง ๆ ก็หวั่นไหว เกิดความดีใจ เสียใจ รักชอบ เกลียดชัง ไปตามเรื่องของอารมณ์นั้น ๆ จิตใจไม่หนักแน่นไม่ต่างอะไรกับคนที่เขามิได้ภาวนามาเลย

ถึงตรงนี้ผมก็หยุดเพลงไว้เพื่ออธิบายเพิ่มเติม เพราะย่ามีความเข้าใจว่า วิธีการภาวนา ก็คือ นั่งหลับตาทำสมาธิ จนกระทั่งจิตลง (ไม่รู้ว่าจะลงไปไหนของท่าน) พอลงเสร็จก็จะเห็นธรรมเอง หรือถ้าไม่เห็นก็ให้ครูบาอาจารย์ท่านที่เก่ง ๆ สอนต่อไปในขั้นสูง ในบางครั้งก็จะไปสวรรค์ไปนรกได้ สุดท้ายก็จะไปนิพพาน ซึ่งอยู่เป็นขั้น ๆ เหมือนบันไดโดยนิพพานนั้นอยู่สูงกว่าสวรรค์ พรหมโลก คือขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วนิพพานอยู่ขั้นสูงสุด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นท่านเข้าใจว่าต้องนั่งสมาธิให้จิตลงให้ได้เสียก่อน

เรื่องนี้ต้องนั่งอธิบายกันอยู่นาน พร้อมทั้งยกตัวอย่างในเพลงซึ่งมีเนื้อหาที่ถูกต้องอยู่แล้ว คือหลวงปู่มั่นท่านไม่อยากให้จิตมันรวมลงไป แล้วไปเห็นนิมิต เห็นนั่นเห็นนี่ หรือเที่ยวเร่ร่อนไปในที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่มีประโยชน์ ท่านพยายามดึงให้จิตนี้อยู่แต่ในร่างกายเท่านั้นเพราะท่านเดินกายคตาสติ คือให้จิตมีสติอยู่ในกายเท่านั้น ตั้งแต่หัวลงมาจนถึงปลายเท้า ตัวท่านเองก็พยายามอย่างหนักเหมือนกันกว่าจะควบคุมให้จิตอยู่แต่ในกายได้ (ในที่นี้หมายถึงไม่ยอมให้จิตคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ นา ๆ ด้วย และต้องคุมกันอย่างนั้นตลอดเวลา ยกเว้นตอนหลับเท่านั้น) พร้อมกันนั้นผมก็อธิบายเพิ่มเติมว่า หลวงปู่มั่นท่านเคยอุปมาอุปไมยไว้ว่า ปกตินั้นคนทำไร่ทำนาเขาทำอยู่บนพื้นดิน ไม่ได้ขึ้นไปทำอยู่บนฟ้าบนอากาศ เขาจึงได้ดอกได้ผลผลิตมาฉันใด การภาวนานั้นก็เหมือนกัน ถ้าจะทำวิปัสสนากัมมัฏถาน ให้ได้ผล นั้นต้องทำที่ รูปนาม ก็คือ กายกับใจ ของเราฉันนั้น ไม่ใช่จะไปทำในนิมิต นิมิตเห็นสวรรค์ นิมิตเห็นนรก หรือนิมิตเห็นพระพุทธเจ้า เป็นต้น สุดท้ายผมสรุปให้ย่าฟังว่า หลวงปู่มั่นท่านเป็นคนฉลาดมาก ถ้าเป็นคนอื่นคงติดนิมิตเตลิดเปิดเปิงไปแล้ว แต่หลวงปู่มั่นท่านเป็นคนฉลาด ท่านมาเอะใจว่ามันไม่น่าจะถูก เพราะพอออกจากสมาธิมากระทบกับอารมณ์ภายนอก จิตใจกลับไม่มีความมั่นคงเอาเสียเลย หลวงปู่มั่นท่านบอกว่าอย่างนี้มันผิด แล้วทำไมย่าถึงพยายามที่จะทำให้ได้สิ่งที่ หลวงปู่ท่านบอกว่ามันผิด มันเป็นการส่งจิตออกนอก ซึ่งผิดหลักของการภาวนา

แล้วผมก็เปิดเพลงต่อฟังไป "ท่านทำใจ ไม่รอช้า ย้อนจิตเข้ามาพิจารณาในเรือนกาย ส่วนบน ส่วนกลาง โดยรอบ หน้าหลังและส่วนปลาย โดยมีสติติดไป ช่วยรักษา เดินจงกรมไปมา มากกว่าอิริยาบถอื่นใด ๆ แม้นั่งภาวนาไป เน้นเรือนกายเป็นอารมณ์ ..." ช่วงนี้เป็นช่วงที่หลวงปู่มั่นท่านเริ่มย้อนจิตเข้ามาพิจารณาในเรือนกาย จากข้างบนถึงข้างล่าง จากข้างซ้ายถึงข้างขวา จากข้างหน้าถึงข้างหลัง โดยมีสติติดไปช่วยรักษา ผมก็อธิบายเพิ่มเติมว่า ย่าเห็นหรือเปล่าว่าหลวงปู่มั่นท่านไม่ได้ส่งจิตออกนอกไปในนิมิตเหมือนก่อน และท่านก็ไม่ปล่อยให้จิตคิดนู่นคิดนี่ฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น ๆ ท่านพยายามให้จิตมันอยู่เฉพาะในกายเท่านั้น ซึ่งสาระสำคัญก็คือ คำว่า "โดยมีสติติดไป ช่วยรักษา" ก็คือไม่ปล่อยให้ใจเหม่อหรือเผลอเรอแต่อย่างใด โดยเน้นเดินจงกรม เพื่อบังคับให้จิตอยู่ในกายเท่านั้น ตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน แล้วท่านก็ได้รับความสงบร่มเย็นด้วยวิธีนี้ ท่านจึงเริ่มแน่ใจว่าอุบายนี้เป็นทางที่ถูกต้อง แล้วท่านก็ใช้แนวทางนี้เป็นแนวทางในการพิจารณาต่อไป เพราะฉะนั้นถ้าย่าอยากภาวนาก้าวหน้าต้องทำเหมือนท่าน คือมีสติอยู่กับกาย กับใจ ตลอดเวลา ไม่ใช่จะไปนั่งหลับตาทำสมาธิมั่วไปเรื่อย โดยที่ไม่รู้ว่าทำไปทำไม

"... ได้ผลอันน่าชม ชื่นใจ จิตสงบลงเร็วไว อย่างง่ายดายผิดธรรมดา รู้ทันทีเลยว่าที่ทำมานี้ถูกทาง เมื่อจิตมันคงรวมลงไป ไม่เลื่อนไหล เร่ร่อนไปในที่ต่าง ๆ ท่านจึงแน่ใจ และถืออุบายนี้เป็นแนวทาง ไว้วางอย่างมั่นคง ไม่สงสัย ยึดเป็นอุบายที่ใช้นำ ดำเนินมา ไม่อาภัพนับว่าสมาธิเริ่มแน่นอน...."

แล้วท่านก็เริ่มออกธุดงค์และมีความมุ่งมั่นในการภาวนามาก ไม่ว่าท่านจะไปอยู่ที่ไหนท่านภาวนาไม่ลดละ และมีประโยคสำคัญอีกประโยคตรงนี้ก็คือ "ใจเป็นแกนสติตั้งคอยติดตาม" ผมก็หยุดเพลงแล้วเน้นให้ย่าฟังว่า นี่คือประโยคสำคัญที่ควรเอาใจใส่ คือให้มีสติอยู่กับใจ ตลอด นี่แหละคือการภาวนาของแท้ ไม่ใช่ไปนั่งหลับตาแล้วตัวเล็กตัวใหญ่ วูบ ๆ วาบ ๆ ตัวเบา ตัวหนัก หรือตัวลอยแต่อย่างใด

แล้วก็เปิดฟังอีกต่อไป... "พระอาจารย์มั่น แม้ท่านจะอยู่ที่ไหน ป่าหรือแหล่งแห่งหนใด เทิดธรรมวินัยนั้นอยู่เหนือเศียร มุ่งธรรมดำเนินมิเคยเหินห่างความเพียร ทุกข์โศกโรคร้ายใดมาเบียดเบียน สู้เพียรทรหดอดทน จะเคลื่อนจะไหว ใด ๆ ไม่เหม่อ สติกับใจไม่เผลอเรอ เหม่อลอยสับสน แม้กวาดลานวัด บิณฑบาต ขัดกระโถน ทำความรู้สึกในตน ไม่มีให้คลี่คลาย" พอถึงตรงนี้ผมก็หยุดเพลงไว้ แล้วเปิดซ้ำให้ย่าฟังอีกรอบ และเน้นคำว่า "จะเคลื่อนจะไหว ใด ๆ ไม่เหม่อ สติกับใจไม่เผลอเรอ เหม่อลอยสับสน แม้กวาดลานวัด บิณฑบาต ขัดกระโถน ทำความรู้สึกในตน ไม่มีให้คลี่คลาย" ตรงนี้ผมไม่ต้องอธิบายมากแล้ว เพียงแต่เน้นให้ย่าฟังให้ดี ๆ เอาใจใส่กับประโยคนี้ให้มาก ๆ แล้วผมก็บอกย่าว่า เห็นไหมว่าหลวงปู่มั่นท่านทำอย่างไร ท่านมีสติอยู่ตลอดทั้งวัน ไม่ว่าท่านจะทำอะไร แล้วผมถามย่าว่าทำได้หรือเปล่า สำหรับย่า ไม่ได้กวาดลานวัด ไม่ได้บิณฑบาต ไม่ได้ขัดกระโถน แต่ย่าทำกับข้าว หุงข้าว กวาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ ย่าก็สามารถทำความรู้สึกในตนได้ ย่าจะเคลื่อนจะไหว ก็อย่าให้เหม่อ สติกับใจต้องไม่เผลอเรอ ไม่เหม่อลอย ของพวกนี้ย่าทำได้ มาถึงตอนนี้ย่าเริ่มเงียบฟังไม่พูดอะไร ผมก็เปิดเพลงต่อ "หลับแล้วตื่น ดึกดื่นรีบมา ลุกขึ้นล้างหน้า ล้างตาเร็วไว..."

เรื่องราวต่อมาเป็นเรื่องการเดินธุดงค์ของท่านที่ไปเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ บางตอนออกแนวอภินิหาร ซึ่งคนส่วนใหญ่ฟังแล้วจะชอบตรงนี้ จิตใจจะสนใจตรงนี้เป็นพิเศษ ซึ่งแบ่งคนออกได้สองกลุ่มใหญ่ ๆ พวกแรกเป็นพวกที่ศรัทธาในหลวงปู่ และเชื่อในเรื่องอภิญญา ก็จะเชื่อและมีความตื่นเต้น สนุกสนาน ทึ่งในสิ่งที่ท่านทำได้ ส่วนคนที่ไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ หรือเฉย ๆ กับหลวงปู่มั่น ก็วิจารณ์ในแง่มุมที่ว่า เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เป็นความจริงหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ สำหรับผมเรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่ฟังไว้ประดับความรู้ ขึ้นอยู่กับบารมีของใครของมัน จะจริงจะเท็จก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลเท่านั้น เพราะประเด็นสำคัญของเนื้อธรรมไม่ได้อยู่ตรงนี้ แต่เป็นเรื่องของสติ เรื่องของทุกข์ และการพ้นทุกข์ เท่านั้นเอง

แล้วก็นั่งฟังต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงตอนพระอรหันต์มาสอนธรรมะหลวงปู่มั่นในสมาธินิมิต เหมือนอย่างที่เคยกล่าวมาแล้วผมไม่ไม่มานั่งถกเถียงกับคนอื่นให้เหนื่อยหรอกว่า พระอรหันต์ท่านมาจริงหรือไม่จริง ผมสนใจแค่เนื้อธรรมเท่านั้น ซึ่งผมว่าเป็นความจริงและเป็นประโยชน์เสียยิ่งกว่าสิ่งใด เนื้อหาที่สำคัญที่ผมเน้นให้ย่าฟังก็คือ "...ตั้งแต่เดินจงกรม เหมาะสมนั้นทำยังไง การเคลื่อนไหวใด ๆ ต้องมีสติตั้งประคอง การบิณฑบาต ขบฉัน และขับถ่าย การพูดจาปราศรัยใส่ใจปอง ควรมองและตรองให้ถ้วนถี่ อันถือเป็นอริยะประเพณี เคลื่อนไหวไปมาทิศทางใดก็ดี ต้องมีสติตามแทรกแทรงทุกแห่งหน" ผมหยุดเพลงไว้ตรงนี้เพื่ออธิบายต่อ คราวนี้ไม่ต้องอธิบายมากแล้ว เพราะท่านเริ่มเข้าใจ แล้วย่าก็พูดออกมาว่า นี่ขนาดตอนกิน ตอนเข้าส้วมก็ต้องมีสติหรือเนี่ย ผมก็บอกว่าใช่แล้ว เห็นไหมว่าหลวงปู่มั่นท่านทำยังไง ท่านมีสติ ตลอดเวลา ไม่เผลอไม่พลาดแม้แต่นิดเดียว

แล้วผมก็เปิดต่อจนถึงตอน "...การบำรุงรักษาใด ๆ ในโลกนั่น เยี่ยมยอดอนันต์ คือการรักษาใจตน ให้สูงจนพ้นภัย รู้ธรรมเห็นธรรมที่งามเชิดชูคือรู้ใจ มรรคผลนิพพานอำไพเกิดขึ้นที่ใจจงใฝ่ตรอง" ถึงตรงนี้ผมก็หยุดไว้ให้ย่าใคร่ครวญดูอีกทีว่า การรู้ธรรมนั้นจริง ๆ แล้วก็คือการรู้ใจของตนนั่นเอง ไม่ใช่การไปรู้เห็นสวรรค์นรก อนาคต อดีต กรรม หรือแม้กระทั่งใจของคนอื่น แล้วก็เปิดต่อตอนสุดท้ายของเพลง "...นี่คือธรรมที่สมควรยกย่อง อันวิไลใสผ่องขององค์พระศาสดา อันหาใดเทียมค่า มีหรือจะคู่ควร จงคิดใคร่ครวญ ทบทวนอยู่ทุกเวลา นี่คือธรรมที่สำคัญล้ำค่า จงพิจารณาธรรมที่ฝากเอาไว้ อีกในไม่ช้ากิเลสที่มาเผาไหม้ บอกให้ท่านมั่นใจจะหมดสิ้นไปอีกไม่นาน" แล้วผมก็กล่าวย้ำเพื่อให้ย่าตระหนักอีกรอบว่า นี่คือธรรมอันเยี่ยมยอดของพระพุทธเจ้า ธรรมอันเยี่ยมยอดของพระพุทธเจ้าอยู่ตรงมีสติ โดยเฉพาะ สัมมาสตินี่เอง ไม่ใช่อย่างอื่นเลย คนเกือบทั้งโลกขาดสติ (สัมมาสติ) ทั้งวัน ส่วนใหญ่มีแต่หลงไปข้างนอก ส่งจิตไปอยู่ในโลกของความคิด ส่งจิตไปดู ส่งจิตไปฟัง เป็นต้น ไม่เคยมีสติ กลับมาดูที่รูปนาม หรือ กายใจ ของตนเองเลย หลวงปู่มั่นท่านทำถูกทาง ท่านย้อนจิตเข้ามาพิจารณาในกายในใจของตน จนสุดท้ายท่านก็บรรลุมรรคผลนิพพาน ซึ่งมรรคผลนิพพานก็เกิดขึ้นที่ใจของท่านนั่นเองไม่ได้ไปเกิดที่อื่นเลย และการได้นิพพานก็คือการพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง ความทุกข์ไม่สามารถเข้าไปเกาะจิตใจได้อีกตลอดกาล ไม่ว่ากรณีใด ๆ เพียงแค่นั้นเอง

หลังจากนั้นก็พาย่าเปิดข้ามไปยังเพลง "พุทโธหาย" เพราะย่าสงสัยว่าทำไมผมมาให้ย่า เจริญสติตามดูรูปนามกายใจ แต่หลวงปู่มั่นท่านสอนให้ชาวเขาท่องพุทโธ ผมก็อธิบายเบื้องต้นก่อนว่า การท่องพุทโธนั้น ย่าจะท่องก็ได้แต่ต้องรู้ก่อนว่าจะท่องทำไม การท่องพุทโธนั้นสามารถทำเป็นได้ทั้ง สมถะ และ วิปัสสนา การท่องเป็นสมถะ หมายถึงให้จิตอยู่กับพุทโธอย่างเดียว จนกระทั่งจิตหดตัวเข้ามาไม่แส่ส่ายไปทางอื่น เหลือแต่พุทโธอย่างเดียว จิตก็จะรวมลงเป็นสมถะ เข้าสู่ความสงบ ส่วนการท่องเป็นวิปัสสนานั้นเปรียบเสมือนการเอาพุทโธมาเป็นเหยื่อล่อจิต เราก็ท่องพุทโธไปเรื่อย ๆ พอจิตส่งไปข้างนอก ก็รู้ว่าส่งไปข้างนอก จิตแว็บออกไปคิดก็รู้ว่าจิตแว็บออกไปคิด แล้วก็กลับมาท่องพุทโธใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเราก็จะเข้าใจการทำงานของจิต ในขณะที่จิตส่งไปข้างนอก แล้วเรารู้ว่าจิตส่งไปข้างนอก ขณะนั้นเองที่เรียกว่าสติ

หลวงปู่มั่นท่านฉลาดมากนะ ย่าคิดดูสิการจะสอนชาวเขาซึ่งไม่รู้หนังสือให้เจริญสติ ให้เข้าใจการภาวนานั้นยากแค่ไหน ท่านก็เลยใช้อุบายบอกชาวบ้านว่าพุทโธท่านหาย แล้วให้ชาวบ้านมาช่วยตามหา ชาวบ้านเขาก็ช่วยกันตามหาอย่างเอาจริงเอาจังจนได้รับความสงบร่มเย็นไปตามลำดับ ดังเนื้อเพลงที่ร้องไว้ว่า "...คนหนึ่งถามว่าทำไมหลับตานิ่ง บางทีเดินมาเดินไป ทั้งนั่งและเดินไปมา ตุ๊เจ้าค้นหาอะไร ท่านก็พูดตอบทันใด พุทโธเราหายนั่นนะซิ เรานั่งเดินตามหาพุทโธ พุทโธ ของเราอยู่นี่ ยังไม่พบเจอสักทีไม่รู้หลบลี้ไปหนใด เขาถามว่าตัวพุทโธที่ว่า หน้าตาเป็นไฉน เราช่วยตุ๊เจ้าหาได้ไหม ท่านบอกว่าได้ ไม่มีปัญหา พุทโธที่ว่านี้เป็นดวงแก้วงามล้ำค่า ประเสริฐเลิศในโลกาฉลาดรอบรู้เหนือใด..." แล้วท่านก็สอนให้ชาวบ้านหัดตามหาพุทโธ โดยให้นึกพุทโธ อยู่ในใจ ซึ่งก็คือการบริกรรม นั่นเอง และสุดท้ายก็มีชาวบ้านคนหนึ่งเขาหาพุทโธเจอ แล้วเขาก็มาบอกหลวงปู่มั่นว่า ท่านเป็นคนที่ฉลาดและเมตตามาก เพราะจริง ๆ แล้ว พุทโธก็คือ ความสว่างที่เกิดขึ้นกับใจ นั่นเอง ไม่ใช่อะไรที่ต้องไปเดินหานั่งหาแต่อย่างใด

ส่วนเนื้อเพลงอื่น ๆ นั้นผมก็พาฟังไปเรื่อย ๆ ไม่ค่อยได้อธิบายอะไรมากเพราะเริ่มดึกมากแล้ว และก็คิดว่าย่าคงเข้าใจประเด็นสำคัญแล้ว อย่างอื่นเป็นเพียงความรู้ที่เป็นส่วนประกอบเท่านั้น

เพลงประวัติหลวงปู่มั่น และอื่น ๆ ที่อ้างอิง สามารถ Download ได้ที่เว็บไซต์ของ วัดป่าภูผาสูง

Monday, September 19, 2005

สติ กับ หัวข้อธรรม

เนื่องจากการคลุกคลีกับธรรมะ กับวัดอยู่เป็นประจำ ทำให้ช่วงนี้ไม่ว่าจะขยับซ้าย ขยับขวา หรือทำอะไร จะมีหัวข้อธรรมผุดขึ้นมาในใจนี้ตลอดทั้งวัน สลับกับการรู้สึกตัว บางครั้งก็ฟุ้งซ่านในหัวข้อธรรมก็มี แต่ก็ดีนะ เหมือนกับว่าเราห่างไกลความชั่วออกมาเรื่อย ๆ ถึงแม้บางครั้งเราจะถอยหลังกลับไปหามันบ้าง แต่ก็ไปอย่างฝืน ๆ เหมือนมีอะไรมารั้งไว้ ดึงไว้ ชีวิตช่วงนี้ ก็เลยเป็นการขลุกอยู่กับธรรมะ การรู้สึกตัวอยู่ตลอด ส่วนกิเลสนั้นขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ เพราะมันอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิดแล้ว ดีหน่อยก็ตรงที่มีสิ่งดี ๆ เข้าไปเจือจางบ้าง

Friday, August 26, 2005

วันนี้จิตแจ่มใส

เมื่อวานตอนกลับจากการอบรม จิตใจค่อนข้างหมองเพราะเหตุปัจจัยบางอย่าง เพราะจิตมันจะฟุ้งซ่าน สร้างภพขึ้นมาแล้วเข้าไปอยู่ในอารมณ์นั้น บ่อย ๆ พอเข้าไปแล้วก็ทุกข์ แต่วันนี้มันแปลก ๆ โดยเฉพาะตอนเย็นหลังเลิกงานเป็นต้นไป เกือบทุกครั้งที่จิตเข้าไปในอารมณ์เดิมแบบเมื่อวาน มันจะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง พอรู้สึกตัวขึ้นมาอารมณ์เดิมที่มันเข้าไปเหมือนมันขาดออก หายไปเฉย ๆ ยิ่งเข้าไปบ่อยก็ยิ่งขาดบ่อย พอขาดบ่อย ๆ ต่อเนื่องกัน จิตใจมันก็แจ่มใสขึ้นมาเอง โดยที่เราไม่ได้ทำอะไร

มันแปลกตรงที่อารมณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกตัวเป็นอารมณ์ราคะและโทสะ พอจิตมีราคะและโทสะก็เกิดความรู้สึกตัวตามมา ราคะโทสะก็หาย ช่วงที่ราคะโทสะหาย เหมือนจิตมันเบา ๆ ขึ้นมาประมาณ ๒ - ๓ วินาที แล้วก็ค่อย ๆ จางหายไป กลายเป็นความฟุ้งซ่าน เป็นอย่างอื่นไป ไม่นานก็จะกระโจนลงไปในอารมณ์เดิมที่มันเคยลงไปอีก เหมือนกับว่ามันเคยลงไปบ่อยมันก็เลยชินที่จะลง แต่พอลงไปปุ๊บ ก็รู้สึกตัวปั๊บ จิตใจก็เบาขึ้นมาอีกรอบ พอมันกระโดดลงไปถี่ ๆ มันก็เลยรู้สึกตัวถี่ ๆ พอรู้สึกตัวถี่ ๆ มันก็เลยเบา ๆ ต่อเนื่องกัน ก็เลยกลายเป็นความแจ่มใสไปเอง แปลก จริง ๆ

ก่อนหน้านี้ไม่เป็นแบบนี้ ก่อนหน้านี้จะเป็นการรู้สึกตัวไปเรื่อย ๆ ทั้งวัน แต่เวลาจิตมีราคะ หรือโทสะ นั่งดูมัน เป็นสิบนาทียังไม่หายเลย ยิ่งเป็นโทสะ นั่งดูกันครึ่งชั่วโมงยังไม่หายก็มี (ไม่รู้ว่ามันรู้สึกตัวแบบไหนกัน)

ถ้าต่อไปจิตเป็นอย่างนี้ได้บ่อย ๆ คงดี เพราะจิตมันชอบอารมณ์พวกนี้อยู่แล้ว พอมันกระโจนลงไป ก็รู้สึกตัวปั๊บภายในเสี้ยววินาที การภาวนาคงจะดีขึ้นมาก

Sunday, July 31, 2005

เรื่องสำคัญคือ จิตใจ

หลวงปู่ศรี มหาวีโร ท่านเคยสอนไว้น่าประทับใจตอนหนึ่ง

อย่าปล่อยจิตใจทิ้ง ไปเลี้ยงแต่ธาตุแต่ขันธ์อย่างเดียว ธาตุขันธ์เลี้ยงไว้ เดี๋ยวมันก็แก่ ก็เจ็บก็ตายเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่จิตใจมันไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย
การทำมาหากินทางโลกให้ทำมาหากินพอเอามาเลี้ยงธาตุขันธ์ก็พอ เรื่องสำคัญคือจิตใจ อย่าไปละทิ้ง ทำมาหากินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงเพื่อน แค่นั้นก็พอ ถึงแม้เราบำรุงมันดีแค่ไหนซักวันเราก็จะทิ้งมันไปอยู่ดี

Tuesday, July 19, 2005

หน้าอมทุกข์

เวลาที่มีความรู้สึกตัวขึ้นมา บ่อยครั้งที่ผมเอาจิตไปสัมผัสรู้กล้ามเนื้อในส่วนของใบหน้า เพื่อที่จะดูว่าหน้าของเราในขณะนั้นเป็นอย่างไร ทุกครั้งที่สัมผัสลงไปจะพบว่าใบหน้าของเรานั้นจะออกไปทางทุกข์ ๆ หมอง ๆ เศร้า ๆ ตึง ๆ หรือไม่ก็เครียด ๆ แทบไม่เคยสัมผัสเจอรอยยิ้มบนในหน้าในขณะที่ตัวเองเผลอเลย พอเห็นหน้าทุกข์แบบนั้นแล้วผมก็จะนึกถึงพระพุทธรูปขึ้นในจิตใจ พอเห็นภาพท่านยิ้ม แล้วก็จะยิ้มเบา ๆ เหมือนอย่างท่าน จิตใจจะสดชื่นและสว่างขึ้นทันที



สังเกตุดูให้ดีนะครับว่าพระพุทธรูปนั้นท่านยิ้มอย่างอ่อนโยน สดชื่น ละมุนละไม สงบ และเยือกเย็น ในชีวิตประจำวันยากมากที่จะเห็นมนุษย์ทั่ว ๆ ไปยิ้มเหมือนอย่างท่าน

เท่าที่ติดตามดูทั้งตนเองและสังเกตผู้อื่นมานานพบว่า ใบหน้าคนเรานั้นจะยิ้มในขณะที่คุยกันกับคนที่เรารู้จักหรือคุ้นเคย ส่วนเวลาที่อยู่คนเดียว ในขณะที่คิด ขณะที่นั่งอยู่บนรถประจำทาง ยืนในลิฟท์ เดินเข้าบริษัท นั่งกินข้าว อาบน้ำ ฯลฯ ใบหน้าคนเรานั้นจะออกไปทางหมอง ๆ เสมอ ยิ่งคนไหนที่กำลังอยู่ในช่วงที่ชีวิตมีความทุกข์ยิ่งจะแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจน

ผมเคยนั่งรถเมล์ในกรุงเทพฯ สังเกตดูคนในรถทั้งคันหาคนยิ้มแทบไม่ได้ คนที่ยิ้มส่วนใหญ่ก็ยิ้มตอนที่คุยกับเพื่อนที่มาด้วยกันเท่านั้น ส่วนคนที่มาคนเดียวนั้น จะปล่อยให้ตัวเองไปอยู่ในโลกของความคิด คิดอะไรก็ไม่รู้แล้วก็เหม่อ ๆ ลอย ๆ ส่วนใบหน้าก็ปล่อยให้มันหมอง ๆ เศร้า ๆ เครียด ๆ ยิ่งถ้าวันไหนรถติดมาก ๆ แต่ละคนจะแสดงอาการกระวนกระวาย มีความทุกข์เพิ่มขึ้นบนใบหน้าอย่างเห็นได้ชัด

มนุษย์เรานั้นวิ่งหาแต่ความสุขจากข้างนอก จากเพื่อน จากคนรัก จากหนัง จากละคร จากอาหาร จากเพลง จากสิ่งของนอกกาย แต่ความสุขภายในซึ่งหาได้ง่าย ๆ มีได้ไม่จำกัด และมีให้หยิบฉวยอยู่ทั้งวันกลับหากันไม่เป็น หยิบกันไม่เป็น

ช่วงที่ผ่านมาเวลาผมรู้สึกตัว มีสติ ใบหน้าก็จะยิ้มเบา ๆ เสมอ เป็นเทคนิคการเติมความสุขให้กับชีวิต ให้กับการภาวนาไปในตัว พอเผลอปุ๊บ หน้าก็จะหยุดยิ้มและหมองทันที มีวันนึงผมไปกินเลี้ยง ช่วงที่ไม่ได้คุยกับใครผมก็จะรู้สึกตัวและก็นั่งยิ้มเบา ๆ เหมือนพระพุทธรูปท่านยิ้ม มีคนหนึ่งเขานั่งสังเกตผม แล้วก็บอกผมว่า รู้ตัวหรือเปล่าว่านั่งยิ้มอยู่คนเดียว ผมตอบว่ารู้ (เพราะผมยิ้มจากความรู้สึกตัว ไม่ได้ยิ้มเหมือนคนทั่วไปที่การนั่งยิ้มอยู่คนเดียว จะมาจากการนั่งคิดถึงเรื่องที่มีความสุขในอดีต) แล้วเขาก็ถามต่อว่าคิดเรื่องอะไรอยู่เห็นยิ้มอยู่ตั้งนาน ผมไม่รู้จะตอบว่าอย่างไร เพราะถ้าผมตอบว่ายิ้มจากการรู้สึกตัว และมีสติ เขาก็คงไม่เข้าใจ ผมก็เลยตอบไปว่า ไม่ได้คิดอะไรเพียงแค่นั้น

บางวันผมนั่งอยู่บนรถประจำทางผมก็นั่งยิ้มอยู่คนเดียว คนอื่น ๆ ทั้งรถหน้าบึ้งกันหมดรวมทั้งคนขับด้วย สงสัยผมจะบ้าอยู่คนเดียว มีอยู่วันนึงนั่งเล่นอยู่กับย่า ช่วงที่ไม่ได้คุยกันผมก็จะนั่งยิ้ม พอมองดูหน้าย่าจะเห็นความหมองลงอย่างเห็นได้ชัด และก็ปล่อยตัวเองให้เหม่อลอย ไม่รู้คิดไปถึงไหน ผมก็นั่งยิ้มเจริญสติมองหน้าท่านอยู่นาน แล้วท่านก็รู้สึกตัวขึ้นมา หันหน้ามาทางผมเห็นผมกำลังนั่งยิ้มมองท่านอยู่ ท่านก็เลยถามแบบงง ๆ ปนกับอารมณ์ขุ่น ๆ ว่า "ยิ้มอะไร" ผมก็เลยตอบว่า "ยิ้มแบบพระพุทธเจ้า ย่ายิ้มเป็นหรือเปล่า" ดูเหมือนท่านจะงงกว่าเดิมเสียอีก พยายามอธิบายเรื่องการเจริญสติตามดูจิตให้ท่านฟัง แต่ก็ดูเหมือนท่านจะไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร เพราะอธิบายมาหลายครั้งแล้ว ทุก ๆ ครั้งเหมือนจะเข้าใจ พอวันหลังไปถามดูก็เหมือนเริ่มต้นจากศูนย์ใหม่อีกรอบ

ลองดูนะครับสำหรับคนภาวนาที่ต้องการเติมความสุขเล็ก ๆ แต่ให้ผลที่ยิ่งใหญ่กับชีวิต

Monday, July 18, 2005

จิตโง่

ก่อนหน้านี้เคยคิดว่่าตัวเองเป็นคนฉลาด ตั้งแต่เริ่มหัดตามดูจิตผ่านมาปีกว่า เริ่มเห็นความจริงเป็นระยะ ๆ เริ่มเห็นความจริงแล้วว่าเรานั้นแสนโง่ โดยเฉพาะจิตของเรานั้นโคตรโง่ ชอบกระโจนลงไปในอารมณ์สกปรก โสโครก เช่นชอบกระโจนลงไปในอารมณ์โกรธ โทสะ (บางครั้งก็ราคะ) พอกระโจนลงไปแล้วก็เป็นทุกข์ ทุรนทุราย ทรมาน พอหายได้ไม่นานก็หาอารมณ์สกปรกตัวใหม่กระโดดลงไปอีก แล้วไม่ยอมเข็ด อารมณ์เดิม ๆ ทุกข์แบบเดิม ๆ ทุรนทุรายแบบเดิม ๆ กระโจนลงไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้จักเข็ดจักจำ กิเลสก็หน้าเดิม ๆ นั่นแหละ อย่างนี้ไม่เรียกว่าโง่ก็ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร

ยกตัวอย่างเวลาขับรถอยู่บนถนนแล้วมีคนขับรถเร็ว ๆ มาแซง หรือปาดหน้า จะเกิดอาการหงุดหงิดอยากจะเอาคืน รู้สึกเหมือนเสียศักดิ์ศรี จริง ๆ แล้วจิตมันกระโจนลงไปในอารมณ์โทสะ ถ้าพอมีสติตามดูมันบ้างจะเห็นอาการเร่าร้อนของมัน และก็ดิ้นรน จะทำนั่นจะทำนี่ เอาไฟมาเผาหัวใจตัวเองอยู่นั่นแหละ

ก่อนหน้านี้ไม่เคยเห็นเพราะส่วนใหญ่จะหลงไปกับมัน แต่พอมาเจริญสติตามดูจิตนี่เห็นชัดเจน พอมันกระโจนลงไปแล้วความร้อนความทุกข์มันจะเผาหัวใจขึ้นทันที ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมา เอ้า.... โดนอีกแล้ว เอาอีกแล้ว ก่อนหน้านี้ก็เป็นแต่ไม่เคยเห็นไม่เคยมองมันในปัจจุบันขณะที่มันเกิด แต่พอมาตามสะกดรอยมันเรื่อย ๆ จึงเริ่มเห็นว่าจิตของเรานี่มันแสนโง่จริง ๆ

หลังจากจิตเริ่มรู้ว่าตัวเองโง่ มันก็เริ่มจะฉลาดขึ้นมาบ้างหาทางที่จะไม่กระโจนลงไป เปรียบเสมือนเมื่อก่อนเคยจับหินร้อน ๆ แต่ไม่รู้ว่ามันเป็นไฟ ไม่รู้ว่ามันร้อน นึกว่ามันเย็น ก็จับเอาด้วยความหลงผิด แต่จับทีไรก็ร้อนทุกทีแต่มันไม่เคยสังเกตตัวเอง ไม่เคยรู้ ก็เลยไม่เคยเข็ด พอมาเจริญสติมันเริ่มรู้แล้วว่าอะไรร้อน อะไรเย็น แล้วมันก็จะพยายามเลี่ยงไม่กระโจนลงไป ตรงนี้มันเป็นของมันเองเราไม่ได้เข้าไปควบคุมมันหรอก เพราะมันควบคุมไม่ได้อยู่แล้ว แต่ดูเหมือนอนุสัยเดิมจะเยอะ คือมันรู้ตัวไม่ค่อยเร็ว ส่วนใหญ่ตอนที่รู้ตัวก็อยู่ในบ่ออารมณ์สกปรกเรียบร้อยแล้ว กำลังแช่อยู่ในบ่อของอารมณ์สกปรกนั้น ถ้าเราพยายามที่จะตะเกียกตะกายขึ้นมา ดิ้นรนเพื่อที่จะขึ้นจากอารมณ์ที่ไม่ดีนั้น เราจะทำไม่ได้ พอรู้ตัวว่าตัวเองแช่อยู่แล้วดิ้นรนจะหนีเหมือนกับยิ่งไปเติมเชื้อให้มันยิ่งไปกันใหญ่ จะมีความทุกข์แทรกขึ้นมาจากการอยากหนีจากอารมณ์เหล่านั้นอีก ในทางปฏิบัติก็คืออยู่เฉย ๆ กำลังแช่อยู่ในอารมณ์สกปรกก็รู้ว่ากำลังอยู่ แล้วไม่ดิ้นรนไม่อยากให้มันหลุด ดูขณะจิตที่มันแช่อารมณ์นั้นไปเล่น ๆ ซักพักเดี๋ยวมันก็หายเอง เพราะไม่มีอะไรคงทนอยู่ได้ถาวร หรือตลอดกาล ในที่สุดจิตก็จะขึ้นจากบ่อโสโครกได้เร็ว และขึ้นแบบสบาย ๆ ลอยตัวขึ้นมา ไม่ได้ตะเกียกตะกายด้วยความลำบากนัก

ถึงแม้จิตมันจะยังไม่ฉลาดพอที่จะไม่กระโจนลงไปในอารมณ์สกปรก แต่อย่างน้อยมันก็มีวิธีขึ้นจากอารมณ์นั้นโดยไม่ลำบากนัก นี่เป็นวิถีธรรมชาติของจิตเราไม่ต้องไปสอนมัน เพียงแค่ให้มันเห็นความจริงบ่อย ๆ ความจริงที่ง่าย ๆ นี่แหละ พอมันเห็นความจริง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เดี๋ยวมันก็จะค่อย ๆ ฉลาดขึ้นมาเอง แต่ตอนเห็นต้องระวังอย่าไปเผลอคิด เพื่อสอนมันก็พอ เพราะความคิดจะไปกวนไม่ให้มันเห็นตามความเป็นจริง ถ้ามันไม่เห็นความเป็นจริงมันก็จะไม่มีวันที่จะฉลาดขึ้นมาได้

กำลังใจ

ช่วงนี้หลวงตามหาบัวท่านอยู่ที่กรุงเทพฯ พักอยู่ที่สวนแสงธรรม ตอนเย็น ๆ ทาง www.luangta.com จะมีถ่ายทอดสดผ่าน อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ก็เลยมีโอกาสได้ฟังธรรมหลวงตาสด ๆ พร้อมทั้งห็นภาพด้วย ส่วนใหญ่ท่านก็เทศน์สอนญาติโยมธรรมดาไปเรื่อย ๆ และก็มีคนนำทอง และก็เงินมาถวายท่านเป็นระยะ เพื่อสมทบผ้าป่าช่วยชาติ และก็ช่วยเหลือสังคมส่วนอื่น ๆ

เมื่อวันก่อน (ศุกร์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๘) มีพระเข้าไปหาท่านท่านก็เลยเทศน์เรื่องเกี่ยวกับพระหลาย ๆ เรื่อง เช่นเรื่องอดนอนผ่อนอาหาร ท่านก็อธิบายว่าพระที่ท่านปฏิบัติท่านทำไปทำไม จะไม่ขัดกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เดินทางสายกลางหรอกหรือ ท่านก็อธิบายว่า ที่อดไม่ได้อดเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะการบรรลุมรรคผลไม่ได้เกิดเพราะการอดหรือบำเพ็ญตบะ แต่สาเหตุที่พระท่านอดนอนผ่อนอาหารเพราะว่า ต้องการลดราคะ เพราะถ้าหากเรากินอาหารอุดมสมบูรณ์ร่างกายมันก็พร้อม ราคะมันก็มีกำลังเยอะ กิเลสมันก็มีกำลังเยอะ ถ้าเราอด ๆ บ้างกำลังของราคะมันลด มันทำให้จิตใจมั่นคงมากขึ้น เป็นสมาธิมากขึ้น แล้วก็ทำให้ต่อยอดได้ดี ทำให้การภาวนาเจริญก้าวหน้าได้ แต่ก็ไม่ได้เหมาะกับทุก ๆ คน

มีอีกตอนท่านเล่าให้ฟังถึงความมุ่งมั่นในการภาวนาของท่านให้ฟังว่า ตอนที่ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ก็จะมีหลายครั้งหลายคราที่ลาหลวงปู่มั่นขึ้นเขาไปภาวนาอยู่บนเขาคนเดียว ท่านบอกว่าขึ้นเขาเหมือนกับขึ้นเวทีชกมวย ขึ้นไปครั้งแรกกิเลสมันถีบทีเดียวตกเขา เพราะว่าเรามันมวยบ้าน มวยหัดใหม่ แต่กิเลสมันแชมป์โลก เพราะมันครองอยู่บนหัวใจเรามานาน พร้อมทั้งครองอยู่บนหัวใจคนทั้งโลกด้วย มันช่ำชองเก่งกาจมาก คนที่จะสู้มันได้หายากเต็มที ท่านบอกว่าต้องทุกข์ทรมานมากตอนที่โดนมันเล่นงาน จำไม่ลืม ขึ้นชกยกแรกโดนมันเตะเอาทีเดียวกระเด็นตกเวทีเลย แล้วก็ลงเขามาหาพ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงปู่มั่น ท่านก็สอนแนะนำใหม่ ก็ขึ้นเขาไปใหม่ พอขึ้นไปรอบสองก็โดนมันถีบอีก กระเด็นอีก กิเลสนี่มันเก่งจริง ๆ แต่ท่านก็ไม่ย่อท้อ ลงเขามาใหม่ แล้วก็ขึ้นไปใหม่ ตั้งหลายรอบ ทุก ๆ รอบก็จะโดนกิเลสเล่นงานลงมาทุกรอบ สู้มันไม่ได้เลยแบบชั้นเชิงมันคนละชั้น แต่อยู่มาวันหนึ่งท่านบอกว่าซัดมันหน้าหงายไปหนึ่งที อ้าว มึงก็หน้าหงายเป็นเหมือนกันเหรอท่านบอก ทำให้ท่านมีกำลังใจมากขึ้นเพราะเห็นกิเลสมันหน้าหงายไปทีนึง ทำให้มีกำลังใจสู้ ใช้อรรถใช้ธรรมสู้กับกิเลสอย่างมุ่งมั่น ท่านบอกว่าหลังจากนั้นก็อัดกันเรื่อยมาตลุมบอลกัน ระหว่างกิเลสกับธรรม ไม่ถอย จิตใจก็หมุนติ้ว ๆ สุดท้ายวันนึงซัดกิเลสลงไปนอนไม่ลุกขึ้นมาเลย จิตใจก็สว่างไสวไปด้วยอรรถด้วยธรรม
นั่งฟังเรื่องที่ท่านเล่าแล้วมีกำลังใจ เป็นสิ่งช่วยเสริมกำลังใจให้ปฏิบัติภาวนา ใจมันฮึกเหิม อีกอย่างองค์ท่านก็บอกกล่าวสำหรับผู้ที่สงสัยในมรรคผลนิพพานว่า ท่านเป็นพยาน มรรคผลนิพพาน มีจริงท่านทำได้แล้ว พ้นทุกข์ทางใจสิ้นเชิงแล้ว และก็นั่งเป็นพยาน เป็นกำลังใจให้กุลบุตรผู้มาทีหลังให้ก้าวเดินด้วยความมั่นใจ ไม่ต้องลังเลสงสัย มรรคผลนิพพานยังไม่หมดสมัย มีอยู่จริง ขอให้มุ่งมั่นทำไปเถอะจะประสบผลสำเร็จสักวัน

ท่านอาจารย์ปราโมทย์ ก็เคยบอกว่า ให้ปฏิบัติไปเถอะ ถ้าวันไหนจิตมันตื่นขึ้นมา มันจะสว่างไสวอยู่ทั้งวัน ความทุกข์มันจะหายไป นี่ก็เป็นกำลังใจที่สำคัญอีกอันหนึ่งเหมือนกัน

เรานั้นโชคดีที่มีผู้ปฏิบัติได้ผลล่วงหน้าไปก่อนแล้วมาให้คำแนะนำสั่งสอน ถ้ามามั่วเอาเอง ทำไปจนตายก็คงยังไม่ถึงไหน ถึงแม้ว่าพระบางองค์เราจะไม่ได้เห็นท่านไม่รู้จักท่าน แต่ท่านเหล่านั้นก็เป็นกำลังใจให้เราก้าวเดินในทางธรรมนี้อย่างมุ่งมั่น ว่าสักวันเราจะก้าวข้ามฝั่งไปได้เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวกทั้งหลายที่ท่านก้าวข้ามไปกันแล้ว เหมือนกับท่านว่ายน้ำข้ามไปก่อนแล้วยืนอยู่บนฝั่งเป็นกำลังใจให้เราผู้ซึ่งตะเกียกตะกายว่ายตามท่านผู้เจริญเหล่านั้นไป ซักวันหนึ่งเราคงขึ้นฝั่งได้เหมือนท่าน

Tuesday, June 28, 2005

พุทโธ บริกรรม

พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า

ธรรม ๒ อย่างที่ควรให้เจริญเป็นไฉน คือ สมถะ ๑ วิปัสนา ๑ ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ควรให้เจริญ ฯ

ช่วงนี้เริ่มกลับมานั่งสมาธิหรือที่เรียกว่าการพยายามทำสมถะนั่นเอง ไม่อยากเรียกว่าตัวเองทำสมถะ เพราะหลวงพ่อพุธท่านเคยกล่าวไว้ว่า สมถะเริ่มต้นเมื่อหมดความคิด วิปัสนาเริ่มต้นเมื่อหมดความตั้งใจ

หลังจากลาสิกขามาก็ไม่ได้นั่งสมาธิมาหลายเดือน มีแต่ตามดูจิตอย่างเดียว มีความรู้สึกว่ามันขาด ๆ ไม่ค่อยสมบูรณ์ ก็เลยกลับมานั่งสมาธิเหมือนเดิม ก่อนเข้านอนจะไหว้พระสวดมนต์ เสร็จแล้วก็จะนั่งสมาธิ แต่ไม่กำหนดเวลาว่าจะนั่งนานเท่าไหร่แล้วแต่สภาพร่างกาย หรือสภาพจิตใจของวันนั้น ๆ บางวันเพลียมาก นั่งได้ไม่กี่นาทีก็ง่วงแล้ว แต่ถ้าวันไหนร่างกายพร้อม จิตใจพร้อมก็จะนั่งได้นานหน่อย แต่ยังไม่ได้ขนาด ๑ - ๒ ชั่วโมงเหมือนเมื่อก่อน

เริ่มต้นนั่งด้วยการนั่งขัดสมาธิแล้วใช้ความรู้สึกสัมผัสลงไปที่ร่างกายทุก ๆ ส่วนว่ามันมีตรงไหนเกร็งอยู่หรือเปล่า ถ้ามีตรงไหนเกร็งอยู่ก็จะปรับหรือขยับให้สบายเสียก่อน พอสำรวจจนทั่วร่างกายแล้วไม่มีตรงไหนเกร็ง เห็นแต่ความสบายทั่วทั้งร่างกายแล้วก็จะเริ่มการบริกรรม

หายใจเข้า มีสติ บริกรรมคำว่าพุท
หายใจออก มีสติ บริกรรมคำว่าโธ

ไม่เอาอะไรมากเอาแค่นี้ นั่งไปแป็บนึงจิตมันวิ่งออกไปข้างนอกพอรู้สึกตัวก็กลับมาบริกรรมต่อ ไม่ใคร่ครวญกับอดีตเสียใจที่มันหนีไป แล้วก็ไม่สนใจอนาคตว่ามันจะวิ่งหนีไปอีกหรือเปล่า เอาแค่ปัจจุบันตรงหน้า จิตมันก็จะวิ่งสลับไปสลับมา พอนั่งไปได้ประมาณ ๑๕-๒๐ นาที ร่างกายเริ่มสงบเพราะไม่ได้ใช้พลังงาน ลมหายใจจะเริ่มแผ่วเบาลงเองอัตโนมัติเพราะร่างกายต้องการอ็อกซิเจนน้อยลง พอจิตใจเริ่มอยู่กับคำบริกรรมมากขึ้น คิดฟุ้งซ่านน้อยลง สมองก็จะใช้พลังงานน้อยลง ก็จะยิ่งทำให้ลมหายในแผ่วเบาลงไปอีกมาก จนบางครั้งแทบไม่เห็นลมหายใจ จะเกิดความสงสัยขึ้นมาว่ายังมีลมหายใจอยู่หรือเปล่า จิตก็จะเริ่มฟุ้งอีกรอบ ไม่นาน ลมหายใจก็จะเริ่มกลับมาเห็นชัดเจนอีกรอบ ลมหายใจจะมาให้เห็นช่วงหนึ่งแล้วก็หายช่วงหนึ่งเป็นรอบ ๆ พอนั่งไปนาน ๆ บางวันก็จะมีอาการปวดขา แต่บางวันก็ไม่ปวด บางวันก็อึดอัด บางวันก็นั่งเพลิน ๆ ไม่มีอะไรแน่นอน แต่สิ่งที่สำคัญก็คือจะต้องมีสติ หรือการรู้สึกตัวอยู่เสมอนั่นเอง ตรงนี้เป็นส่วนที่สำคัญมาก ตอนที่หัดนั่งสมาธิใหม่ ๆ ไม่รู้จักคำว่ารู้สึกตัว นั่งสมาธิก็จะเผลอถลำไปในอารมณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาขณะนั่งสมาธิ เช่นเสียใจที่จิตมันวิ่งไปข้างนอก หรือพยายามบังคับให้มันอยู่แค่ตรงหน้า แต่ตอนนี้จะมีความรู้สึกตัวแทรกอยู่เสมอ รู้สึกเหมือนการนั่งดูคลื่นอารมณ์ คลื่นความคิด คลื่นความสุขทุกข์ ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เห็นมันวิ่งผ่านมาแล้วก็ผ่านไป นั่งแบบนี้จะนั่งได้นาน ดีกว่าแต่ก่อนสมัยเมื่อตอนที่หัดใหม่ ๆ เยอะ

คำว่าพุทโธเป็นคำบริกรรมที่ดีมาก เป็นคำที่ทำให้เราระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ถึงแม้บริกรรมแล้วจิตไม่สงบ ก็ได้บุญไปในตัวอยู่แล้ว และยิ่งเวลาอยู่ในวัดป่าที่มีสภาพแวดล้อมน่ากลัว หรืออยู่ในป่าช้าคนเดียว ตอนกลางคืน ดึก ๆ จะเห็นได้ชัดเจนว่า พุทโธ นั้นเป็นคำบริกรรมที่ทำให้เราอุ่นใจมาก เมื่อเทียบกับคำบริกรรมอื่น ๆ เช่น ยุบหนอ พองหนอ ธัมโม สังโฆ หรือแม้กระทั่งการทำอานาปานสติ หรือ กายคตาสติ ถ้าใครได้เจอกับตัวเองจะเข้าใจสภาพได้ดี ยิ่งวันไหนที่ชาวบ้านเขาเอาศพมาเผา ซึ่งปกติแถวบ้านนอกเขาจะเผากองฟอน แล้วถ้าเรานั่งภาวนา หรือ เดินจงกรมอยู่แถวนั้นก็จะเห็นกองไฟลุกไหม้อยู่ค่อนคืน ในสภาวะนั้นสำหรับนักภาวนาใหม่ ๆ หรือคนที่กลัวผีแล้ว มีคำบริกรรมเดียวเท่านั้นที่เอาอยู่ ก็คือ พุทโธ นั่นเอง

สำหรับผมถือว่า พุทโธ เป็นสุดยอดของคำบริกรรมเลยทีเดียว

Tuesday, June 14, 2005

ตามรอยพระพุทธเจ้า

พี่บุญเลิศแนะนำให้ดูรายการ ตามรอยพระพุทธเจ้า ช่อง ๙ พี่เขาบอกว่าดี ผมก็เคยได้ยินแว่ว ๆ ในโฆษณามาแล้วแต่จำวันเวลาไม่ได้ก็เลยไม่ได้ดูตอนแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พี่บุญเลิศบอกว่าดีมาก

วันนี้ก็เลยตั้งใจเต็มที่ว่าจะดูให้ได้พอถึงเวลาก็เปิดดู แต่เผอิญว่ารายการนี้เล่นเวลาเดียวกันกับ ละครช่อง ๗ พอดี ตัวผมเองไม่ดูอยู่แล้วแต่ปัญหาก็คือ แฟนผมเขาจะดูกำลังติดละครเรื่องหนึ่งอยู่ โดยความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าละครแบบนี้เป็นละครน้ำเน่าไร้สาระ แต่ก็งงว่าทำไมคนมันติดกันทั้งประเทศ เรดติ้งเป็นอันดับหนึ่ง รายการประเภทสารคดี ดี ๆ มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งธรรมะ โดนรายการพวกนี้เบียดเวลาตกขอบไปหมด เอ..... หรือว่าเราคิดผิด คนอื่นเขาคิดถูกกันหมด.....

แต่นั่งคิดไปคิดมาละครน้ำเน่าพวกนี้มันเหมือนกับชีวิตของคนเรานี่เอง ชีวิตของเราส่วนใหญ่มันก็น้ำเน่าแบบนี้แหละ จิตใจของเรามันก็น้ำเน่าอย่างนี้แหละ จิตใจของเรามันก็โง่ ๆ เหมือนพระเอก นางเอกนั่นแหละ แต่มันแตกต่างตรงที่ในหนังเขาจบตอนมีความสุข แต่จิตใจของเรามันจบไม่เป็น พอมันสุข มันก็ดิ้นหาทุกข์ต่อไป วนไปเวียนมาเหมือนนางเอกช่อง ๗ ยอดฮิตที่มีอยู่ ๒-๓ คน เล่นจบเรื่องนี้ตอนจบมีความสุข พอไปเล่นเรื่องใหม่ก็มีความทุกข์ใหม่พอจะมีความสุขหน่อยก็จบอีกละ สังเกตดูดี ๆ ละครส่วนใหญ่จะเดินสายทุกขาปฏิปทากัน คือมีความทุกข์ตลอดเรื่อง ไม่พระเอกก็นางเองต้องโง่ หรือไม่ก็โง่ทั้งสอง โง่ยังไม่พอแถมยังไม่ยอมพูดความจริง กลัวเขารู้ ปิดบังเก็บกดอยู่นั่นแหละ พูดไม่ได้เพราะถ้าพูดความจริงหนังมันจะจบ เวลาไปเห็นอีกฝ่ายอยู่กับตัวอิจฉาก็จะไปเห็นตอนที่บังเอิญใกล้ชิดกันทำให้เข้าใจผิด แล้วก็ไม่ยอมเดินเข้าไปถามให้รู้เรื่อง (ถ้าเดินไปถามหนังมันจะจบ) เสร็จแล้วก็เก็บเอาความทุกข์มาสุมหัวตัวเองอยู่คนเดียว อ้าว......เขียนไปเขียนมาชักลามปาม ดันไปวิพากวิจารณ์ละครเสียแล้ว ถ้าทีมงานที่สร้างละครกำลังอ่านอยู่ให้อภัยผมด้วยนะครับ ด้วยกิเลสของผมยังหนาสาหัส ก็เลยยังมีความเห็นที่บอกว่าชอบหรือไม่ชอบอยู่ในหัว ก็รายงานตามจริงให้รับทราบเท่านั้น

พอตอนดูก็สลับไปมา แต่รายการตามรอยพระพุทธเจ้ากับละครก็เล่นพร้อมกัน โฆษณาก็โฆษณาพร้อมกัน ไป ๆ มา ๆ ก็เลยจะดูไม่รู้เรื่องทั้งสองอย่างผมก็เลยให้แฟนเขาดูละครไปเลย ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า โดยปกติแล้วถ้าเป็นแต่ก่อน รายการไหนที่อยากดูแล้วไม่ได้ดูนะ จิตใจจะกระวนกระวายมาก ยิ่งเป็นรายการที่ดี ๆ เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าที่เขาใช้เวลาถ่ายทำถึงสองปี ลงทุนถึงสิบล้านบาท แสดงแผนภูมิ แผนที่ เส้นทางที่พระพุทธเจ้าเดินทางออกบวช จากเมืองนั้นไปเมืองนี้ กี่กิโลเมตร ตรัสรู้แล้วเดินทางไปพบปัญจวัคคีย์ จากต้นศรีมหาโพธิ์ ไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ระยะทางเท่าไร จากไหนไปไหน โดยปกติผมก็รู้อยู่แล้วว่าเหตุการเป็นอย่างไร แต่รู้แบบแบน ๆ สองมิติคือรู้ว่ามีเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น แต่ในรายการนี้เขาแสดงให้เห็นว่าการเดินทางนั้นเดินยังไงไกลแค่ไหนพื้นที่เป็นอย่างไร ทำให้เห็นเป็นภาพเป็นอีกมุมหนึ่งเหมือนมีมิติเพิ่มขึ้นมาเป็นสามมิติ

คิดดูเอาก็แล้วกันว่าคนที่ฝักใฝ่พุทธศาสนามาก ๆ จะมีความสนใจเรื่องราวพวกนี้แค่ไหน และยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าซึ่งผมถือเป็นบรมครู ในการสอนให้เจริญสติ ให้ภาวนา ผมมีความเคารพในตัวท่านมาก ๆ เคารพในรูปแบบที่เป็นการนับถืออย่างสูง เหมือนเรานับถือครูบาอาจารย์ผู้ที่สอนเราอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยไม่คิดหรือเอาสิ่งใด ๆ จากเราเลยแม้แต่อย่างเดียว ไม่ใช่นับถือแบบคนบางคนที่ไหว้พระเพื่อให้โชคดี ให้ถูกหวย ให้พ้นเคราะห์ ให้สอบติด ให้สอบผ่าน ให้หายป่วย ฯลฯ ผมก็งงว่าจะไปเอาอะไรกับท่านอีก สิ่งที่ท่านให้ท่านก็ให้ไว้อย่างเต็มที่แล้ว ไม่มีปิดบัง ไม่มีกั๊กกลัวลูกศิษย์จะเก่งเกินครู ท่านให้ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ เต็มกำลังความสามารถเท่าที่ท่านให้ได้แล้ว และก็สมบูรณ์แบบไม่มีข้อใดที่ติต้องได้เลย คิดถึงบุญคุณท่านอย่างนี้แล้วมันรู้สึกตื้นตันเหมือนน้ำตาจะไหล

ถ้าจะเปรียบเทียบก็เสมือนลูกที่เกิดมากำพร้าพ่อแม่ เพราะพ่อแม่เสียตั้งแต่ยังเด็ก แต่อยู่มาวันหนึ่งมีคนบอกว่าจะเล่าเรื่องของพ่อแม่ให้ฟัง คิดดูเอาก็แล้วกันว่าคนคนนั้น หรือเด็กคนนั้นจะอยากฟังเรื่องราวที่เขาจะเล่าแค่ไหน ผมก็มีความรู้สึกอยากจะรู้เรื่องราวของพระพุทธเจ้าในลักษณะเดียวกันอย่างนั้น ลองคิดดูนะครับว่า ผมอยากดูขนาดนี้แล้วไม่ได้ดูผมจะไม่พอใจ และทุกข์มากแค่ไหน

ไม่น่าเชื่อผมไม่รู้สึกทุกข์เลย ไม่โมโห ไม่มีความรู้สึกไม่พอใจด้วย ตอนนั้นนั่งหยั่งลงไปในความรู้สึกของตัวเอง เป็นการรู้สึกตัวไปด้วย ไม่เห็นอาการกระวนกระวาย เห็นแต่ความนิ่งของใจ นิ่งจนผิดสังเกตุ จนงงว่าตัวเองเป็นอย่างนี้ไปได้อย่างไร ดูกี่ครั้งก็นิ่ง จะมีความอยากเล็ก ๆ กระเพื่อมบ้างบางครั้งแต่ก็หายไปอย่างรวดเร็ว เฮ้ยเป็นไปได้ยังไงเนี่ย ? งง ? จนลืมรู้สึกตัวว่าตัวเองกำลังงง !!!

ความอยากนั้นไม่ว่าจะอยากอะไรเป็นกิเลสหมด อยากดูละครน้ำเน่า หรืออยากดูสารคดีตามรอยพระพุทธเจ้า เป็นความอยากที่มาจากตัณหา คือ ภวตัณหาตัวเดียวกันหมด ไม่มีใครดีกว่าหรือเลวกว่า เป็นความอยากตัวเดียวกัน มีลักษณะอาการเหมือนกัน และก็ให้ผลเหมือนกันคือความทุกข์ ถ้าหากผมทุกข์เพราะไม่ได้ดูสารคดีตามรอยพระพุทธเจ้า แสดงว่าผมทุกข์เพราะพระพุทธศาสนา ทุกข์เพราะพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ด้วยซ้ำ ผมเคยเห็นชาวพุทธจำนวนมากทุกข์เพราะพระพุทธศาสนา ทุกข์เพราะไม่ได้ทำบุญ ทุกข์เพราะเห็นคนที่ไม่ดีมาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วทำเรื่องที่ไม่เหมาะกับสมณเพศ ทุกข์เพราะอยากดึงคนอื่นเข้ามาในพระพุทธศาสนาแต่เขาไม่สนใจ ฯลฯ แค่ทุกข์เพราะพระพุทธศาสนาก็ผิดทางแล้วครับ เพราะพระพุทธเจ้าสอนให้เราแก้ที่ตัวเองก่อน หลังจากตัวเองดีแล้ว ค่อย ๆ เผยเผยแผ่สิ่งที่ดีงามและหมดจดนั้นไปให้คนอื่นเหมือนกับ พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวกทุก ๆ องค์ที่ทำไว้ให้ดูเป็นแบบอย่างที่ดีเสมอมา

ถ้าผมไม่ได้ดูสารคดีตามรอยพระพุทธเจ้าแล้วผมเกิดความทุกข์ แสดงว่าผมไม่ได้เดินตามรอยของพระพุทธองค์ เพราะนั่นเป็นการสวนกับทิศทางที่ท่านสอน แต่วันนี้ผมไม่ทุกข์ด้วยเหตุนี้ เป็นผลจากการหัดเจริญสติที่ผ่านมา ถึงแม้จะหัดได้แบบกิ๊กก๊อก เดินแบบช้า ๆ ยิ่งกว่าเต่าต้วมเตี้ยมขาหัก เดิน กระดึ๊บ....กระดึ๊บ....ไปก็ตาม แต่ก็พอให้ผลบ้างแล้ว ผมเข้าใจว่าผมคงพอจะเดินตามรอยพระพุทธเจ้าบ้างแล้ว ไม่ว่าผมจะได้ดูหรือไม่ได้ดูสารคดีตามรอยพระพุทธเจ้าก็ตาม

กราบอาจารย์ที่สูงเนิน

กราบอาจารย์ครั้งที่ ๔ ที่สูงเนิน

อาจารย์ปราโมทย์จะเดินทางไปกราบพระอุปัชฌาย์ที่จังหวัดสุรินทร์ และท่านได้แวะที่ อ.สูงเนิน เพราะพี่อาร์ต ซึ่งเป็นโยมอุปัฎฐากท่านมีเพื่อนสนิทอยู่ที่สูงเนิน ก็จะถือโอกาสแวะมาเจอเพื่อนด้วย

พี่บุญเลิศทราบข่าวจากคุณกิตติ ก็เลยชวนกันไป ไปถึงเที่ยงนิดหน่อย รออาจารย์ไม่ถึงสิบนาที อาจารย์ก็เดินทางมาถึง ก็ได้กราบท่านและท่านก็สอนเหมือนปกติที่ท่านสอนอยู่เป็นประจำ แล้วท่านก็ถามเราว่าเป็นไงบ้างภาวนา เราก็ตอบท่านว่า ก็ดีครับ แต่ว่ามันจะขี้เกียจไปหน่อย มันกลายเป็นคนเอื่อย ๆ เฉื่อย ๆ ไปแล้ว แต่ก่อนเวลาจะทำกิจการงานทุก ๆ อย่าง มันมีความอยากดึงเราให้ทำ แล้วความกลัวก็จะผลักเราให้ทำเหมือนกัน เป็นสิ่งที่ ดึง กับดันเรา ให้ทำ ให้ก้าวไปข้างหน้า แต่ตอนนี้เหมือนกับไอ้สองตัวนี้มันหมดฤทธิ์ แต่ตัวขี้เกียจกับตัวเฉื่อย ๆ มันทำงานแทน โดยทางใจแล้วถือว่าดีขึ้น (ไม่รู้ดีจริงหรือเปล่า) แต่ทางโลกแย่ลง อาจารย์ท่านก็เลยเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ท่านยังไม่บวชท่านทำงานขยันมาก หน้าที่การงานก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แป็บเดียวก็เลื่อนขั้น แป็บเดียวก็เลื่อนขั้น ท่านบอกว่าเราต้องทำงานให้เต็มที่ นอกจากเวลางานค่อยมาดูจิตใจของเรา เข้าใจว่าท่านคงยกตัวอย่างเพื่อเป็นแนวทางให้เราเลิกขี้เกียจ

พี่บุญเลิศสงสัยว่าตัวเองตื่นหรือยัง อาจารย์บอกว่ายัง แล้วก็หันมาทางเรา แล้วก็พูดว่าเราก็เหมือนกัน ยังไม่ตื่นหรอก แล้วท่านก็กล่าวต่อไปว่าถ้าจิตมันตื่นนะ มันจะสว่างโพลงอยู่ทั้งวัน แล้วความทุกข์มันไม่มีหรอก ความทุกข์มันเกิดขึ้นไม่ได้ เราก็เลยถามว่า มันเป็นไปได้หรือครับอาจารย์ ท่านก็ตอบว่า เป็นไปได้สิ ง่าย ๆ นะ ไม่ยาก (แต่อาจารย์เคยบอกว่าหาคนที่ตื่นในโลกนี้ยากมาก) เราก็คิดว่าคงไม่ยากหรอกถ้าตื่นเป็น แต่ประเด็นสำคัญมันตื่นไม่เป็นนี่สิ

ตอนที่เรานั่งอยู่กับท่านเวลาเผลอแว็บนิดนึง ท่านก็จะทักทันทีว่าเผลอไปแล้วรู้มั๊ย แต่เชื่อไหมว่าที่แว็บนี่แว็บเล็กมาก แบบเล็กจนเกือบมองไม่เห็น ขนาดท่านทักให้ดูแล้วเราก็เหมือนเห็นแต่หางมันแว็บ ๆ แทบไม่เห็นเลยด้วยซ้ำ และก็ไม่ได้เห็นเต็มตัวจะ ๆ ถ้าเป็นเหมือนรถวิ่งผ่านก็เห็นแต่ฝุ่น แต่ไม่เห็นตัวรถ (สำหรับเราอาจจะเล็กแต่สำหรับท่านอาจจะใหญ่มาก) เวลาเจอกับท่านเวลาเผลอแบบนี้ท่านจะทัก ซึ่งไอ้ตัวเผลอแบบนี้ปกติเรามองไม่เห็น ถ้าเปรียบเทียบ ตัวเผลอเป็นขนาดของสัตว์ เราก็จะเห็นตัวใหญ่ ๆ อย่างเช่น ช้าง วัว เสือ หรือไม่ก็แมว แล้วแต่สติช่วงนั้นเราไวแค่ไหน แต่เวลาเจออาจารย์เราจะไม่ค่อยหลงพวกนี้เพราะจะคอยระวังสติอยู่เสมอไม่ให้เผลอ ประมาณว่าตั้งใจเต็มที่ แต่ก็จะโดนท่านทักอยู่ดีประเภทที่ท่านทักก็ประมาณ หนู แมลงสาบ หรือมด อะไรพวกนี้ โดยปกติเราจะไม่เห็นความหลงพวกนี้เลย ในขณะที่เราคิดว่าเรามีสติ (บ้าง) แต่จริง ๆ แล้วเราเผลอแบบนี้ประจำ ตลอดเวลา ทั้งวัน วันนึงคงหลายพันหลายหมื่นครั้ง ทางสายนี้คงอีกยาวนาน

เราถามท่านว่าการปฏิบัติระหว่างคนบวชกับไม่บวชมีผลหรือเปล่า ท่านตอบว่าในระดับเริ่มต้นนั้นไม่มีผล เช่น ระดับโสดาบัน หรือ สกิทาคามี เผลอ ๆ อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำเพราะจะโดนอารมณ์ทางโลกกระแทกบ่อย ๆ ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตของอารมณ์ได้บ่อยและมากกว่าคนที่บวช เพราะตอนบวชจะไม่ค่อยได้เจอกับอะไร อยู่เรื่อย ๆ สงบ ๆ ไปเผลอ ๆ จิตไปติดสบายอีกต่างหาก เผลอ ๆ จะก้าวหน้าช้ากว่าด้วยซ้ำ

ได้คุยกับท่านประมาณ ๒๐ นาที ก็กราบลาท่านเพราะเราต้องออกไปกินข้าว แล้วก็กลับไปทำงาน ส่วนท่านก็เดินทางต่อไปที่ จ. สุรินทร์ ก่อนกลับตอนกราบลาท่าน ท่านก็พูดว่า ถ้าอยากรู้ใจคนอื่นไม่ยากนะ ให้รู้ใจตัวเองก่อน พอรู้ใจตัวเองหมดแล้ว จะรู้ใจคนอื่นนี่ง่ายนิดเดียว

วันนี้ถือเป็นวันดีอีกวันหนึ่ง

Tuesday, June 07, 2005

เพื่อนร่วมทาง

เวลาที่ผมแนะนำให้ใครภาวนา มันเหมือนกับชวนคนเดินทางไปด้วยกัน บางคนแค่ชวนว่า ปะเดินไปทางนี้ด้วยกัน ก็เดินเลย บางคนต้องกระตุ้นบ่อย ๆ หน่อย บางคนทั้งดึง ทั้งดันก็ไม่ขยับเลย สำหรับคนสองประเภทหลัง สิ่งที่ผมทำส่วนใหญ่จะเป็นการกระตุ้นให้เขาเดินให้ได้ก่อน เพราะถ้าทำให้เขาเดินด้วยความมุ่งมั่นส่วนตัวไม่ได้ อย่างอื่นไม่ต้องพูดถึง การเดินทางสายนี้ค่อนข้างยากและสับสนเอาการ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเราอยู่ตรงไหน ใกล้ถึงหรือยัง เมื่อไหร่จะถึง จุดหมายจะมีจริงหรือเปล่า กำลังหลงทางอยู่หรือเปล่า กำลังเดินเข้าหาเป้าหมายหรือว่าเดินผิดทางห่างออกไปเรื่อย ๆ ถึงแม้จะดูเหมือนว่ามีเพื่อนในการภาวนา แต่แท้จริงแล้วตัวใครตัวมัน เดินคนเดียวไม่มีใครมารู้มาเห็นด้วยได้ มีแต่ตัวเองล้วน ๆ ที่สัมผัสอยู่กับแต่ละสภาวะ ณ เวลานั้น ๆ นอกเสียจากว่าจะได้อาจารย์ที่ดี ๆ แนะนำในบางครั้ง แต่ท่านก็อยู่กับเราตลอดไปไม่ได้ จะเห็นว่าความยากลำบากนั้นมีมากพอสมควร เพราะฉะนั้นใครขาดความมุ่งมั่นส่วนตัว ขาดกำลังใจที่เต็มเปี่ยม แล้วยากครับ ยากมาก

ส่วนคนที่ ออกเดินทางแล้ว ผมจะค่อย ๆ ให้สิ่งอื่น ๆ อาจจะให้รองเท้ากันหนาม ให้ร่มกันแดด ให้เข็มทิศ ให้แผนที่ ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ตามกำลังที่พอจะมี หรือถ้าผมไม่มีผมก็จะพาไปหาผู้ที่มีให้ท่านแนะนำให้อีกที ปัญหาสำหรับผู้ที่ออกเดินทางแล้วนั้นจะแตกต่างไปอีกแบบ ดังตัวอย่างที่ผมจะให้ดูข้างล่างนี้ เป็นเมลล์ที่ ปุ้ยเขากำลังสงสัยอยู่ เหมือนกับที่ผมเคยเจอมาก่อน ผมจะขอตอบเป็นตัวหนังสือสีเขียว นะครับ



ขอบคุณค่ะพี่โอห์ม แต่ปุ้ยมีปัญหาในการฟังค่ะ
เนื่องจากปุ้ยทำงานใน line เครื่องใน line ไม่มี Sound card and Program suppord ค่ะ
แต่ถ้าพี่มีเป็น Mp3 ให้ฟัง ปุ้ยก็ว่าจะพิจารณาซื้อตัวเล่น Mp3 ขนาดเล็ก ๆ (ประมาณพันกว่าบาท / กว่านิด ๆ พอนะ)
เพราะคิดไว้นานแล้วว่าจะซื้อค่ะ (มันอยู่ในแผนชีวิตอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะพี่อยากให้ฟังแล้วหนูจะต้องเสียเงินหรอกค่ะ กลัวพี่จะคิดเสียใจ)
งั้นรอโบนัสก่อนนะคะ ... คิดว่าพอซื้อได้ แล้วจะขอเอามาโหลดจากเครื่องพี่โอห์มเลยละกันค่ะ (ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ)
ก็แล้วแต่นะแต่มีข้อเสนอแนะหน่อยว่าของที่ราคาพันกว่าบาทส่วนมากจะเป็นอุปกรณ์พวก Flash Memory ซึ่งความจุที่ได้ก็จะอยู่ในหลักร้อย MB เท่านั้นเอง ส่วนไฟล์ MP3 ที่เป็นธรรมะนั้นจะขนาดใหญ่มาก ส่วนใหญ่ประมาณ 40-50 MB ถ้าเครื่องของเรามีความจุน้อยใส่ไปแค่ 2-3 ไฟล์ก็เต็มแล้ว แต่ถ้าไม่มีตังค์ก็ไม่เป็นไร มา Copy บ่อย ๆ เอาก็ได้

ที่พี่ต้นให้หนูดูตาม line หนูงง เพราะเว็บนี้หนูเข้าไปดูจนหมดแล้ว จนหนู Save text file มาอ่านหมดแล้ว ไม่มีรูปท่านนี่คะ
(แต่พอพี่ส่งมาให้ไปดูใหม่ หนูก็ยังไม่ได้เข้าไปอีกหรอกค่ะ...เครื่องใน Line ไม่เหมือนเครื่องพี่ ๆ นะคะ ต้องเข้าใจ ถ้ามีรูปส่งให้หนูดูทางโน๊ตจะเป็นพระคุณค่ะ
พอหนูอ่านประวัติ หลวงปู่มหาปราโมทย์ ปราโมชโช ก็เลยเกิดสงสัยนิดหน่อยค่ะ บางทีการอยากรู้ประวัติท่านก็เป็นกิเลสที่น่าเบื่อเน๊อะ
แต่บางทีก็เถียงตัวเองว่า ประวัติท่าน (หลาย ๆ ท่าน) เป็นตัวสร้างศรัทธาอย่างถาวร โดยที่ลบล้างไม่ได้เลย เหมือนหลวงปู่ชา หลวงปู่ทองรัตน์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ดูลย์ 9ล9...
ถูกต้องครับการอยากทุก ๆ อย่างเป็นกิเลสหมด ไม่ว่าจะอยากอะไรก็ตาม แม้กระทั่งอยากพ้นทุกข์ อยากได้นิพพาน อยากรู้ประวัติครูบาอาจารย์ หลวงพ่อพุธ ท่านกล่าวไว้ว่า พวกอยากได้นิพพานนี่กิเลสร้อยเปอร์เซ็นต์ เชื่อไหมครับว่าความอยากพวกนี้ พออยากแล้วไม่ทำตาม ส่วนใหญ่จะไม่ทำตามเพราะความไม่อยาก คือไม่อยากให้ไอ้ตัวอยากมันทำงานได้สำเร็จ เป็นกิเลสอีกตัวที่ซ้อนขึ้นมา แล้วจะทำอย่างไร หันไปทางไหนก็เจอแต่กิเลส ทางนั้นก็ผิด ทางนี้ก็ผิด

วิธีการก็คือ พออยากแล้วให้รู้ให้ทันในขณะอยาก ณ วินาทีนั้นให้รู้ว่ามีความอยากขึ้นมา แค่นี้ก็เป็นการเห็นสภาวธรรมอีกตัวแล้วเป็นการปฏิบัติไปแล้ว แล้วถ้าสมควรอ่านก็อ่าน เพราะขณะอ่านไม่จำเป็นต้องมีกิเลส ในขณะที่อ่านจิตที่อยากมันจบลงไปแล้ว มันเหลือแต่จิตที่อ่านอยู่ก็อ่านไป แม้ขณะอ่านก็ดูความรู้สึกของเราไปได้เรื่อย ๆ มันไม่อยู่นิ่งหรอกครับ มันขึ้น ๆ ลง ๆ สร้างเป็นภาพขึ้นมาบ้าง ใส่ความเห็นลงไปบ้าง บางครั้งสายตาอ่านอยู่กับหนังสือ แต่ใจวิ่งแว็ปออกไปข้างนอกก็มี อันนี้ต้องสังเกตุเอา สติต้องไวพอควร
สำหรับผมเวลาปกติก็จะเจริญสติตามรู้กายใจไปเรื่อย ๆ แม้นั่งพิมพ์อยู่ขณะนี้ ก็รู้สึกตัวเป็นระยะ ๆ รู้สึกตัวแต่ละครั้งโลกมันเบาขึ้นไปเยอะครับ (แล้วคนอ่านรู้สึกตัวบ้างหรือเปล่า) พอผมจะอ่านหนังสือ บางครั้งผมถือเป็นช่วงพักของจิต เป็นการทำสมถะอีกรูแบบหนึ่ง อย่าเข้าใจว่าการทำสมถะนั้น จะต้องไปนั่งหลับตาอะไรเทือกนั้นอย่างเดียว สมถะแบบเบา ๆ สบาย ๆ อาจเกิดจากการอ่านหนังสือที่เราชอบ ในขณะที่อ่านจิตไปอยู่กับสิ่งที่อ่านเพียงอย่างเดียวไม่วิ่งหน้าวิ่งหลัง มันได้อ่านสิ่งที่มันชอบ มันก็จะมีความสุข แล้วมันก็จะมีความตั้งมั่นอยู่ในสิ่งที่เราอ่าน นี่ก็เป็นลักษณะอาการของสมถะนั่นเองครับ ยิ่งถ้าเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือธรรมะ เหมือนผม นอกจากได้ทำในสิ่งที่จิตมันชอบแล้วมีความสุขแล้ว ยังได้ความรู้ดี ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย

อาจารย์สายวัดป่าบางท่านในช่วงที่ท่านสอนลูกศิษย์ ช่วงไหนที่จะปฏิบัติอย่างจริงจัง ท่านจะไม่ให้ทำอะไรที่มันใช้ความคิดมากมาก ๆ อย่างเช่นการอ่าน การเขียนบันทึก แม้กระทั่งสิ่งที่เคยรู้มาก่อนเคยศึกษามาก่อนท่านก็บอกให้เก็บใส่ตู้ไว้ก่อน ในช่วงปฏิบัติไม่ต้องใช้ เพราะของพวกนี้มันอยู่ในขั้นของ สัญญา คือความจำ หรือ ความคิดทั้งหมด ในตอนปฺฏิบัติต้องลงไปเห็นสภาวะต่าง ๆ ตามความเป็นจริง แต่ละขณะ แต่ละขณะ พวกความจำและความคิดต่าง ๆ ส่วนใหญ่มันเป็นอดีตหรือไม่ก็อนาคตทั้งนั้น มีแต่จะมาดึงจิตออกจากปัจจุบันทั้งนั้น ตัวปัจจุบันจริง ๆ ต้องเป็นสภาวะที่เราลงไปประจักษ์ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ซึ่งแคบมาก

อีกประการที่ผมจะเตือนไว้อีกหน่อย คือเรื่องของความศรัทธา ตัวศรัทธามีมาก ๆ มันจะกลายเป็นงมงายได้ง่ายมาก ต้องระวังไว้หน่อย พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราปักใจเชื่ออะไร ง่าย ๆ ทีเดียว ท่านบอกว่าต้องให้ประจักษ์ด้วยตัวเองเสียก่อนจึง จะยึดถือ หรือจะละทิ้ง อย่าไปเชื่อเพราะอ่านมา ฟังมา คิดเอา เดาเอา อาจารย์สอนมา เพื่อนบอกมา ข่าวว่ามา ฯลฯ

มาคุยเรื่องปฏิบัติกันก่อนหน่อยละกัน
หนูก็ไม่อยากทำให้ความตั้งใจของพี่โอห์มกับพี่บุญเลิศผิดหวังหรอกนะคะ (อาจไม่หวังแต่เป็นการเมตตาเพื่อนมนุษย์)
ไม่หวังอะไรมากหรอกครับ ก็ทำเท่าที่ทำได้ มีคนภาวนาด้วยกันเยอะ ๆ ก็ดีครับเป็นเพื่อนร่วมทาง เพราะทางนี้คนเดินน้อย บางครั้งเดินคนเดียวก็วังเวงชอบกล แต่การคลุกคลีมากก็จะเป็นเหตุให้ฟุ้งซ่านได้ง่าย เอาเป็นว่าเอาให้พองามก็แล้วกัน
หนูพยายามฝึกตามรู้คร่าว ๆ ว่า
กาย
- ทำอะไร พิมพ์ มืออยู่ยังไง ตา ขา แขน ประมาณว่ารู้ทั่วตัว (เป็นศัพท์ที่ได้จากเว็บสันตินันท์ค่ะ)
รู้ทั่วตัวเหมือนไม่ได้เพ่งที่ส่วนใด แต่เห็นกาย (รวม ๆ คร่าว ๆ ถึงกิริยา) โดยไม่ได้สนใจลมหายใจแล้วค่ะ
แต่บางครั้งก็ดูลมหายใจที่ผ่านรูจมูกเข้า-ออก แต่ไม่ตามค่ะ เพราะตามแล้วอึดอัด บางทีก็หายใจสดุด เหมือนที่พี่โอห์มบอกว่าเราเพ่งเกินไป ไม่ใช่ตามรู้ แต่บังคับรู้เกินไป
เหมือนผมตอนใหม่ ๆ เลยครับ คือ พยายามจะรู้ตัวให้ทั่วพร้อม แต่มัน Over เกินไปมันก็เลยทะลุไปฝั่งเพ่งจ้องไว้ พอจิตจะวิ่งออกไปทำอย่างอื่นก็ดึงเข้ามาหาลมหายใจ หรือไม่ก็มาหาอะไรซักอย่าง เกิดอาการแน่นหน้าอกขึ้นมา แก้อยู่ตั้งนานกว่าจะหาย ตอนนั้นทำอยู่คนเดียวด้วย ถามใครก็ไม่ได้ เกือบแย่เหมือนกัน ตอนนั้นผมแก้อย่างนี้นะครับ พอขณะกำลังหลง ๆ อยู่แล้วรู้สึกตัวขึ้นมา ผมจะไม่ให้มันเพ่งคือ จะพยายามให้มันหลงครั้งใหม่อย่างเร็วที่สุด ไม่ดึงมันไว้ให้มันหลงให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้รู้ตัวใหม่อีกรอบไว ๆ ก็พบว่าดีขึ้น แต่ภายหลังพอทำไปนาน ๆ จึงรู้ว่าไอ้ตัวที่พยายามจะให้หลง ไอ้นี่ก็เป็นกิเลสอีกตัวหนึ่ง ซึ่งจริง ๆ มันเผลอหลงไปแล้วหละ คือหลงไปบังคับให้มันหลง เป็นหลงซ้อนหลง อาจจะฟังดูงง ๆ หน่อยนะ แต่มันก็เป็นอย่างนี้แหละ ช่วงหลัง ๆ เป็นลักษณะปล่อยเลยตามเลย คือ มันอยากหลงก็หลง อยากเพ่งก็เพ่ง ก็ปล่อยมัน ค่อย ๆ รู้ไปเรื่อย ๆ แค่ไหนเอาแค่นั้น ถ้ามันอยากเพ่งก็ดูมันเพ่ง ดูไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวมันก็หยุดเอง มันกระจอกจะตายไม่มีปัญญาเพ่งอยู่ได้เป็นชั่วโมงชั่วโมงหรอกครับ แป็บเดียก็หนีไปอีกแล้ว
จะดูลมหายใจ ดูกาย ดูอะไรก็ได้ครับแต่เป้าหมายของเรา คือ จิต พวกอื่น ๆ เหมือนเป็นเหยื่อล่อ ให้เห็นสภาวะของจิตได้บ่อย ๆ นั่นเป็นใช้ได้แล้วครับ เห็นจิตมันดิ้นไปดิ้นมา แกว่งไปแกว่งมาก็ใช้ได้แล้วครับ

ใจ
- ไม่สามารถแยกได้เท่าไหร่ค่ะ ว่าคิดเรื่องใดอยู่ จบตอนไหน เรื่องใหม่มาตอนไหน (ไม่สามารถรู้การเกิดขึ้น ตั้นอยู่ และดับไปขอเรื่องที่คิดได้ค่ะ)
ไม่ต้องแยกครับการไปนั่งแยกเป็นการหลงไปทำงาน ในส่วนของสมมุติบัญญัติ เอาแค่รู้ว่ามีการคิดเกิดขึ้นก็พอ คือถ้ารู้ว่าคิดแต่ไม่รู้ว่าคิดอะไรนี่สุดยอดครับแสดงว่าสัญญาตัวเดิมที่พึ่งดับไปทำงานไม่ทัน เพราะถ้าเราดันไปรู้ว่ามันคิดเรื่องอะไรเป็นการหลงไปในโลกสมมุติบัญญัติเรียบร้อยแล้วครับ เป็นการไปเอาสัญญาตัวที่พึ่งดับไปมาเป็นอารมณ์ตัวใหม่ซึ่งเป็นการหลงอีกชั้น
- แต่สังเกตแค่ว่า รู้สึกยังไงอยู่ เฉย เบื่อ ดีใจ ตื่นเต้น เสียใจ โกรธ สงสัย แค่นี้ รู้ว่าเอ้อนี่ตื่นเต้นนี่หว่า ... ใจเต้นเร็วว่ะ ลองหายใจเข้าซิ เออ ดีขึ้น เออมีสตินะ หาย เอ้า หาย....
- อ่านหนังสือไปได้มากแล้วค่ะ ส่วนใหญ่ เนื้อหาคล้าย ๆ กับที่เราเคยอ่านมา แต่การปฏิบัติซิ...ยังไม่ค่อยได้อะไรเลยค่ะ
ดีครับค่อย ๆ ทำไปดีแล้วครับ

มีความสงสัยในตัวเองคือ
- พี่โอห์มบอกว่าไม่ต้องไปบังคับ ไม่ต้องไปหยุดคิด (ในหนังสือบอกว่าไม่ต้องเข้าไปปรุงแต่ง)
เหมือนหนูบอกว่าคิดถึงลูก ทำอะไรอยู่น้า แล้วก็มีอีกความคิดหนึ่งบอกว่า คิดทำไม คิดไปก็ไม่มีประโยชน์ ฟุ้งเปล่า ๆ (2 ตัว 2 ความคิดมันเถียงกัน)
พี่โอห์มก็บอกว่า ยังไม่ถูก ... ให้ตามรู้เฉย ๆ แล้วสังเกตุว่ามันหยุดตอนไหน แค่นั้น
หนูก็กลับมาทำ พอมันจะคิด เออ ไม่ใช่มีแค่ 2 มีอีกตัวด้วยคราวนี้หนักกว่าเก่ามีตัวที่ 3 ด้วย... มันบอกว่า ก็พี่เค้าบอกว่าไม่ต้องไปหยุดมันไง ทำไมดื้อจังวะ ไม่ทำตามเค้าจะรู้ได้ยังไง
ไอ้ตัวแรกมันก็หยุดเอง หยุดเองกลางทาง โดยที่ยังไม่ได้ไปบอกว่าหยุดเลยค่ะ มันเบื่อเอง หนูว่าเหมือนมันจะรู้ว่า อีกตัวในตัวเรา หรืออีกหลายตัวจะวุ่นวายจะเถียงกัน ตัวแรกมันคงไม่อยากสับสัน
มันไม่อยากถูกด่าเอาว่าโง่ ฟุ้ง ปรุงแต่ง ซึ่งก็เป็นคำพูดที่เจ็บพอสมควร มันก็เลยหยุดเอง แล้วหนูก็กลับมาที่กายใหม่ เดิน หายใจเข้า หยิบ จับ .....ไปเรื่อย ๆ ค่ะ แต่จะพยายามรู้ทั้งตัว
มันเป็นแบบนี้แหละครับ บางครั้งมันก็เถียงกันสองตัวสามตัว บางครั้งมันก็ด่าตัวเอง บางครั้งมันก็ไปเอาธรรมะของครูบาอาจารย์มาสอนตัวเอง วิธีการของผมคือไม่ห้าม ถ้ามันเกิดการเถียงกันขึ้นมา ผมจะรู้เฉย ๆ รู้ว่ามันกำลังเถียงกันแล้วก็ดูอย่างเดียวไม่เข้าไปแทรกแทรง แป็บเดียวครับ หายหัวไปไหนก็ไม่รู้

ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ได้มีสองตัวสามตัวหรอกครับ มันตัวเดียวนี่แหละ แต่มันสลับกันเกิดดับเล่นละครคนละตัวกัน ด้วยตัณหาคนละตัวกัน แต่มันเร็วมาก เร็วจนเราคิดว่ามันมีหลายตัว ที่ยกตัวอย่างมาผมนับดูได้ 4 - 5 ตัวนะครับลองดูดี ๆ ตัวหนึ่งเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็มีอีกตัวเกิดต่อมา ต่อกันไปเรื่อย ๆ เหมือนลูกโซ่

เชื่อหรือเปล่าครับบางครั้งมันไม่ได้ด่าแค่ตัวเองนะครับเผลอ ๆ นึกปรามาส พระพุทธเจ้า พระสงฆ์ก็มี (อย่าให้ผมเล่าเลยครับว่ามันนึกว่าอย่างไร เดี๋ยวมันจะไปติดในสัญญาของท่านแล้วจะลำบากเหมือนผม) แล้วแต่มันจะเป็นครับ ช่วงแรก ๆ ผมเจอแบบนี้แทบช๊อกครับ มันชักจะลามปามไปใหญ่แล้ว และที่สำคัญยิ่งห้ามยิ่งเหมือนยิ่งยุ ยิ่งกลัวมันคิด มันยิ่งคิดถึงบ่อย เหมือนคนอกหักนะครับ ยิ่งไม่อยากคิดยิ่งหนักกว่าเดิมอีก เพราะว่าความไม่อยากก็เป็นเชื้อไฟให้มันอีกตัว ผมเคยถามท่านอาจารย์ปราโมทย์ ท่านก็บอกว่า ธรรมดา จิตมันก็เป็นอย่างนี้แหละ บางทีมันก็นึกด่าครูบาอาจารย์ที่สอนเราขึ้นมาเฉยเลย มันแสดงอนัตตาให้ดูว่าเราควบคุมมันไม่ได้ มันไม่ใช่เรา แล้วท่านก็แนะนำว่าถ้ากังวลใจก็ให้ ไหว้พระขอขมา เพื่อให้สบายใจ ช่วงหลัง ๆ ผมก็ปล่อย แล้วแต่มันครับ มันอยากทำอะไรก็เรื่องของมัน เดี๋ยวมันก็ไปรับกรรมของมันเองแหละ พอปล่อยนะเหมือนกับว่ามันค่อย ๆ หายไปเอง แต่ยังไม่หมดนะครับ ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่แต่น้อยมาก แล้วผมก็ไม่สนใจมันดัวย จะทำอะไรก็แล้วแต่มัน


ขอคั่น
ทั้งหมดอาจเรียบเรียงไม่เป็นเรื่องเท่าไหร่นะคะ (สับสนใจตัวเองมิใช่น้อย)
ไม่เป็นไรครับใคร ๆ ก็สับสนครับ เป็นกันทุกคน เดี๋ยวดีเอง
แต่มันก็ได้แค่ ครั้งละ ไม่ถึง 1 นาทีที่กำลังรู้สึก (รู้สึกตัวทั่วพร้อม ตามคำในเว็บสันตินันท์) แต่ก็ลืมตัวหรือเผลอ ตามหนังสือ รู้ ตื่น เบิกบาน
เผลอบ่อยค่ะ บ่อยมาก ๆ นับจากวันที่คุยกับพี่ ตามได้ 5 ครั้ง ครั้งละไม่ถึง 1 นาที แล้วก็หาย ต่อมาก็เพิ่มจำนวนครั้งได้ แต่เพิ่มเวลาไม่ค่อยได้เลยค่ะ
เวลาไม่ต้องเพิ่มครับให้ลด เอาให้เหลือวินาทีเดียวยิ่งดี แต่จำนวนครั้งนี้เอาบ่อย ๆ ถี่ ๆ

ท้อ
แน่นอน ไม่รู้ว่าการเดินทางของเรา เราอยู่ที่ไหน ทางไกลแค่ไหน ไปถูกทางไหม จะไปได้ไหม...บางทีก็ร้องเพลง
ผมก็ไม่รู้ครับแต่พอเห็นลาง ๆ ได้ว่าไม่น่าจะผิดทาง
ซึ่งนานมากแล้วที่ไม่เคยร้องเพลงแบบออกเสียงดัง เล่นลูกคอด้วยความสบายใจ ไม่รู้แหล่ะ หลงไปเลยเอาเลย แต่ก็ได้แค่ท่อนเดียวค่ะ สติแตกไปเลยก็ดี
พอกลับมารู้ตัวอีก ก็ไม่ค่อยรู้เท่าไหร่คิดแต่เพลง (ใน line เปิดเพลงค่ะ ก็เลยปล่อยไปเลยในเวลาเบื่อ ๆ และ
ท้อ)

ให้กำลังใจตัวเอง
มีพี่ ๆ อยู่ อย่างน้อย ๆ พี่เค้าคงไม่ปล่อยให้เราหลงทางหรอกว้า...อย่างน้อย ๆ พี่เค้าก็คงจะพอแนะให้เราพอหากินเองได้ ชี้ทางได้ แล้วเราก็ไปเอง...เอาล่ะวะ เป็นไงเป็นกัน
จะเป็นลูกศิษย์พระตถาคตต้องใจเด็ดครับ ถึงผมจะไม่ได้เก่งอะไรมาก แต่ก็พอหาครูบาอาจารย์ให้ได้ครับ
มีทางแล้ว มีแสงสว่างแล้ว เอาล่ะวะ แสงหายไปแล้ว เอาล่ะวะ คลำเอาก็ได้ (เออ ดูซิว่าความฟุ้งของปุ้ยมันคุยกันได้มากขนาดไหน ฮ่า ๆ "อวดความโง่ให้ผู้รู้ฟังนี่ก็ดีนะ ... สบายใจดี"
เป็นเหมือนกันครับ ประโยคนี้ผมอ่านแล้วก็ยิ้มอารมณ์ดี ทำให้จิตผมเปลี่ยนอารมณ์จากการพยายามตั้งใจมาเป็นผ่อนคลายได้เหมือนกันนะ นี่ถือเป็นบุญอย่างหนึ่ง ทำให้คนอารมณ์ดี

งั้นสรุป (คิดว่าจะไม่มีสรุปซะแล้ว ตัวเองยังสรุปไม่ค่อยได้เลย)
หลังโบนัสหนูจะขึ้นไปขอไฟล์ละกันนะคะ เอาไว้ฟังคนเดียวอย่างต่อเนื่องและมีสมาธิคนเดียวกับหูฟัง (พี่ต้นชอบฟัง เหมือนมีตัวต้นแบบให้ดูเลย ฮ่า ๆ )
ขออนุโมทนาในความเมตตาของพี่ ๆ ค่ะ อาจไม่เป็นศิษย์ที่ดี ดื้อและหัวแข็ง ไม่เป็นไรค่ะพี่อย่าตั้งความหวังว่าหนูจะตื่นอย่างพี่ละกัน (หนูก็ยังไม่กล้าหวังเล้ย)
ขอบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง จากใจจริง


สาธุ
โอปอร์

ขอให้เจริญในธรรมครับ

วันที่ ๒๖๙ กัลยาณมิตร

กัลยาณมิตร คำนี้เป็นคำที่มีความไพเราะอยู่ในตัว ทั้งความหมายก็ดี เป็นคำที่ผมชอบมากคำหนึ่ง คำว่ากัลยาณมิตร ความหมายในสามัญสำนึกของคนทั่วไป หมายถึง เพื่อนที่ดี ในความหมายส่วนตัวของผมหมายถึง เพื่อนที่ดีทางจิตวิญญาณ ของแต่ละบุคคลซึ่งเป็นนักเดินทางผู้โดดเดี่ยว ต่างคนต่างเกิดต่างตาย เวียนมาเจอกันแล้วก็จากกัน เจอคนโน้นเจอคนนี้ในฐานะ เพื่อน พ่อ แม่ พี่ น้อง สามี ภรรยา แล้วก็จากกันอีก แล้วก็พบกันใหม่ บางคนก็ได้พบกันบ่อย บางคนก็พบกันน้อย แล้วแต่กรรมที่ทำร่วมกัน เพราะฉะนั้นคำว่ากัลยาณมิตรในความหมายของผมก็คือ นักเดินทางผู้ซึ่งมาร่วมเดินทางไปด้วยกัน ในระยะทางสั้น ๆ สายหนึ่งก่อนจะจากกัน แต่ขณะเดินร่วมทางกันนั้นก็ได้ส่งเสริม ช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ช่วยพยุง ช่วยแนะนำในสิ่งที่ดี และที่สำคัญเป็นเพื่อนผู้ซึ่งเดินไปในทิศทางเดียวกัน สู่จุดหมายเดียวกัน ผู้ที่เกิดมาเจอกับผมแล้วร่วมเดินในสายทางแห่งธรรมไปกับผม ผมถือว่าท่านเหล่านั้นเป็น กัลยาณมิตร ของผม

ส่วนในพระไตรปิฎกนั้น กัลยาณมิตร หมายถึง ครูอาจารย์ผู้คอยชี้แนะ ไม่ให้เราหลงทาง เป็นครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ นอกเหนือจาก โยนิโสมนสิการ ซึ่งหาได้ยากในสมัยปัจจุบันแต่ก็ไม่ถึงกับขาดแคลน ยังพอหาได้

พี่ปิ่นเป็นกัลยาณมิตรของผมคนหนึ่งที่มีบุญคุณกับผมมาก ผมไม่ค่อยได้เจอกับพี่ปิ่นบ่อยนัก ถึงแม้เราจะอยู่บริษัทเดียวกัน แต่เราก็อยู่คนละโรงงาน แต่ทุกครั้งที่เจอกันจะมีแต่สิ่งที่ดี ๆ เสมอ ในเชิงปริมาณนั้นน้อย แต่คุณภาพนั้นคับแก้ว ผมขออนุญาตเอา เมลล์ที่คุยติดต่อกับพี่ปิ่นมา บันทึกไว้ ณ ที่นี้

/----------------------------------------------------------------------------------

สวัสดีครับโอม สบายดีเหรอ? ไม่ได้เจอกันนานเลย การปฏิบัติเป็นอย่างไรบ้างครับช่วงนี้ ( ^_^ )

พี่ปิ่น

ps, สิ้นเดือนนี้วันที่ 30 มิย. พี่เชิญคุณ ดนัย จันทร์เจ้าฉาย มาบรรยายที่ซีเกท เทพารักษ์น่ะ ( แกก็เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปราโมทย์ด้วยเช่นกัน)
ลองดูประวัตินะ เผื่อโอมมาเทพารักษ์ช่วงนั้น ---> Link ตอนแรกพี่ก็เชิญแกไปโคราชด้วยเช่นกันแต่แกไม่สะดวก เลยกลายเป็นที่นี่ที่เดียวเอง

/-----------------------------------------------------------------------------------


สวัสดีครับพี่ปิ่น

ผมสบายดีครับ จะมีบ้างก็อาการปวดหลังที่เป็นมานานมาก เป็นสิบปีแล้ว ช่วงนี้ชักกำเริบ พี่เชื่อไหมครับว่าอายุขนาดผมมีปัญหาเรื่องปวดหลังเหมือนคนแก่เลย สงสัยเคยทำกรรมไม่ค่อยดีไว้ เลยต้องมารับวิบาก แต่ไม่เป็นไรหรอกครับ เพราะจิตใจไม่ได้ไปทุกข์กับมัน มันปวดก็ให้มันปวดไป พี่เองก็เคยปวดเมื่อหลายปีมาแล้วเช่นกันครับ ปวดจนขนาดเดินไม่ได้เลยแต่เป็นอยู่ประมาณอาทิตย์เดียวก็หายไปแบบไม่มีร่องรอย
เป็นเรื่องที่แปลกเช่นกัน คงเป็นกรรมลักษณะคล้ายๆกันแน่เลยในอดีต แต่พี่เองตั้งแต่เล็กจน 10 ขวบกว่า จะเป็นคนที่มีบาดแผลบ่อยมากเดี๋ยวมีดบาด หัวแตกฯลฯ ต้องเย็บแผลกันตลอด มีคนบอกว่าสงสัยเคยเป็น
พวกนักรบโบราณมาก่อน เลยต้องเลือดตกยางออกบ่อยๆ


การปฏิบัติก็ดีนะครับ คิดว่าคงเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ถึงมันจะขึ้น ๆ ลง ๆ ซึ่งก็เป็นปกติของมัน แต่ไ่ม่รู้ว่าช่วงนี้ความทุกข์ตัวใหญ่ ๆ มันหายหัวไปไหน ไม่ค่อยโผล่มาให้เห็น เห็นแต่ตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ปฏิบัติไปปฏิับัติมา ชักเอะใจ เอ๊ะ นี่มันจะสบายไปหรือเปล่า แล้วเหมือนผมไม่ได้ทำอะไรเลย คือ ไอ้ตัวอารมณ์ มันก็วิ่งขึ้นลงตามประสาของมัน ได้ตัวสติมันก็ทำงานของมันเอง ทำบ้างไม่ทำบ้างก็แล้วแต่มัน แต่รู้สึกว่ามันเก่งขึ้นเรื่อย ๆ มันเก่งของมันเอง ทำไปทำมาจะว่าปฏิบัติก็ไม่ใช่ จะว่าไม่ปฏิบัติก็ไม่ใช่ เพราะผมไม่ได้ทำ มันทำของมันเอง ไม่เป็นไรเรื่องของมันปล่อยมันไปเถอะครับ (พูดเหมือนเป็นคนอื่นเลยเนอะ ^_^) อย่างนี้แหละครับ อย่างที่หลวงพ่อปราโมทย์ท่านว่า แรกๆกิเลสมันก็หน้าตาเหมือนผู้ร้าย เราเห็นปุ๊บ ก็รู้ปั๊บ แต่พอกิเลสมันละเอียดขึ้น มันก็เหมือนผู้ร้ายที่หน้าเหมือนพระเอกทำให้เราดูยากขึ้นๆ ถ้าเรารู้ตัวเป็นแล้วก็ไม่ต้องกังวลครับ ดูจิตไปเรื่อยๆ มันก็จะพัฒนาของมันไปเองครับ

ผมกำลังเริ่มทำหลาย ๆ อย่าง ตั้งใจว่าจะทำให้สังคม ประเทศชาตินี่แหละครับ มีที่เกี่ยวกับ ธรรมะ คือ

- ผมกำลังช่วยอาจารย์มหาธีรนาถ พิมพ์ประวัติหลวงปู่ศรี มหาวีโร ซึ่งท่านก็เป็น ศิษย์หลวงปู่มั่น รุ่น ๆ เดียวกับหลวงตามหาบัว นั่นแหละครับ เวลาไปออกงานจะเห็นท่านไปด้วยกันบ่อย ๆ แต่ตอนนี้ท่านชราภาพมากแล้ว _/\_อนุโมทนาด้วยครับนับว่าเป็นงานกุศลที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง การได้ช่วยเหลือกิจการบุญแบบนี้หาได้ยากนัก

- และอีกอันก็ช่วยท่านพิมพ์ คู่มือนักธรรมชั้นตรีเพื่อเอาไปแจกให้นักศึกษาที่กำลังศึกษาธรรมะ และจะสอบนักธรรมชั้นตรีปลายปีนี้ อาจารย์ท่านบอกว่าจะให้ผมสอบนักธรรมชั้นตรีกับเขาด้วย แต่ผมคิดไปคิดมา ผมไม่สอบดีกว่า เพราะเดี๋ยวจะเป็นการเพิ่ม มานะ ให้ตัวเองเปล่า ๆ เดี๋ยวคิดว่าตัวเองเก่ง ไม่เอา ผมว่าจะอ่านให้มีความรู้ก็พอแล้ว ระดับขั้นชั้นนั้นชั้นนี้ถ้าเอามาเกรงว่ามันจะเป็นพิษกับตัวเอง ผมดูแล้วพระที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไม่ใช่ท่านปฏิบัติอย่างเดียว ปริยัติท่านก็เอาใจใส่เหมือนกัน เช่นหลวงปู่มั่น นี่เท่าที่ทราบ ปริยัติ ท่านก็แน่นมาก ท่านศึกษาอยู่หลายปีเหมือนกัน เพียงแต่ว่าท่านไม่ไปสอบเอาระดับขั้นเท่านั้นเอง
พี่เองก็มีความเห็นเหมือนกับโอมครับ ตัวพี่เองก็ไม่เคยชอบการแข่งขันอะไรเลยตั้งแต่เด็กแล้ว รู้สึกว่าทำไมต้องอวดกัน ทำไมต้องเราดีกว่าเขา เขาแย่กว่าเราฯลฯ

- อีกอันกำลังทำเว็ปให้วัดป่าภูผาสูง (www.pupasoong.com) จะรวบรวมงานที่มีคุณภาพที่ดี เอามาเผยแพร่ เพราะที่นี่มีงานที่ดีมีคุณภาพเป็นจำนวนมาก แต่พอพิมพ์แจก หรือ Write CD แจกแล้วก็หมด คนอยากได้ทีหลังก็หาลำบาก ผมจะเอาไฟล์ต้นฉบับที่ส่งโรงพิมพ์ และก็ไฟล์ MP3 ต่าง ๆ มาให้ Download กัน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับหลวงปู่มั่น นี่ผมจะเน้นเป็นพิเศษ เพราะผมถือว่าท่านมีบุญคุณกับผมมาก เหมือนกับอาจารย์ปราโมทย์ และพระพุทธเจ้าของเรา นี่แหละครับ ทั้งสามท่านนี้มีความสำคัญกับผมมากจริง ๆ _/\_ อนุโมทนาด้วยครับ ถือเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่จริงๆครับเพราะกว้างขวางและไพศาลมาก

- อีกอันกำลังทำ Blog เกี่ยวกับ ธรรมะ กำลังคิดอยู่ว่า จะใช้ชื่อ กัลยาณมิตร www.kanlayanamitr.com หรือว่า www.dhammablog.com ดี (พี่ปิ่นช่่วยโวตมาก็ดีนะครับ ถ้ามี 2 ชื่อพี่ว่าใช้www.kanlayanamitr.com น่าจะดีครับ ) เว็ปนี้จะเป็นลักษณะการทำงานของ blog หรือ weblog นั้นเอง คือ แต่ละคนจะไ้ด้บันทึก การปฏิบัติธรรมของตนไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่วันเริ่มต้น เป็นเหมือนบันทึกส่วนตัว และจะเปิดเผยให้คนอื่นอ่านหรือไม่ก็ได้ (คล้าย ๆ กับลักษณะของตัวละครใน ๗ เดือนบรรลุธรรม นะครับ แต่ทำผ่าน blog) และถ้าเปิดเผยให้คนอื่นอ่าน ก็อาจจะมีคนเข้ามาช่วย Comment ได้ เช่นผู้ที่เคยเดินทางผ่านจุดนั้น ๆ มาก่อน หรืออาจจะเห็นว่าเขากำลังออกนอนลู่นอกทาง ก็ช่วยดึงเข้ามาในทางได้ โดยปกติแล้วผมก็จะบันทึกการปฏิบัติของผมอยู่แล้ว แต่่ว่ามันอยู่ในเครื่องของผม เท่าที่ดูผมว่ามันเป็นประโยชน์มาก เวลาผมกลับไปอ่านดู จะเห็นความก้าวหน้า เห็นความผิดเดิม ๆ ทำให้ไม่ผิดซ้ำ เห็นจิตใจตัวเองในแต่ละช่วง ฯลฯ บางครั้งเราคลุกอยู่วงในกับปัญหาแล้วมองไม่ออก พอมาอ่านบันทึกของตัวเองก็เหมือนกับการถอยออกมาเป็นคนมองตัวละครอีกครั้งหนึ่ง ก็ช่วยได้เยอะเหมือนกัน และอีกประการก็คือ เพื่อน ๆ ที่เริ่มปฏิบัติใหม่ ๆ ผมพบว่าเขาก็จะเจอปัญหาคล้าย ๆ กับผมเหมือนกันในตอนเริ่มต้น ถ้าเขาสามารถได้มาอ่านของผมก็เหมือนเป็นการตอบคำถามเขาไปในตัว ดีมากเลยครับเท่ากับให้ธรรมะเป็นทานแบบไม่เจาะจงด้วยเลยทีเดียว

- อีกอันกำลังจัดทำ www.freebizsoft.com ผมจะเขียน Software แจกสำหรับธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ให้กับประเทศไทย เพื่อช่วยให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถแข่งขันกับต่่างประเทศได้ เพื่อให้ธุรกิจเหล่านั้นเพิ่มศักยภาพในการจัดการบริหาร ด้วย IT บริษัทขนาดเล็กต่าง ๆ ทั่วประเทศไม่มีปัญญาไปจ้างโปรแกรมเมอร์มาเขียนซอฟแวร์มาเขียนให้ตัวเองหรอกครับ ส่วนใหญ่ก็จะซื้อของถูก ๆ ราคา สองสามร้อยมาใช้ซึ่งก็ไ่ม่ค่อยมีคุณภาพ ถ้าเป็นของดี ๆ ก็จะแพงมาก ซึ่งก็จะแอบใช้ของเถื่อนกัน ผิดทั้งกฎหมาย ผิดทั้งศีล และเป็นการทำกรรมชั่วอย่างเลือกไม่ได้อีกต่างหาก ผมจะมาช่วยทำตรงนี้ให้แล้วให้ Download ฟรี ไปใช้ โดยผมจะเริ่มจาก Software ที่ Common กันมาก ๆ เช่น ร้านขายอะไหล่ ร้านขายของชำ ร้านขายหนังสือ ร้านขายยา อู่ซ่อมรถ ศูนย์บริการ ซอฟแวร์ทางการเกษตร ฯลฯ และ Software ของผมจะแทรกธรรมะให้อ่านทุก ๆ ครั้งที่เปิดใช้งานด้วย เหมือน Trip ของโปรแกรมอื่น ๆ สิ่งที่ผมทำน่าจะช่วยให้ธุรกิจไทยได้มีเครื่องมือดี ๆ ได้ใช้ของถูกต้องตามกฎหมาย การใช้ของเถื่อนกันทั้งประเทศนี้ผมว่ามันเป็นกรรมระดับประเทศ เราถึงได้รับกรรมกันอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ คือการที่ต้องตกเป็น ประเทศที่ต้องเป็นเมืองขึ้นทาง Software ไม่สามารถพัฒนาตัวเองไปเป็นผู้ผลิตเองได้ ต้องตามเขาไปเรื่อย ๆ ในอนาคตถ้าผมทำได้ดี ก็จะมีคนใช้มาก อาจจะมีคนช่วนสนับสนุนเ และอาจจะหาโปรแกรมเมอร์คนอื่น ๆ มาช่วย หรือ อาจจะทำโปรเจคกับทางมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท มาช่วยกันเขียน Software เพื่อสังคมไทย โดยมีเว็ปของผมเป็นศูนย์กลาง เป็นเรื่องที่ดีมากเลยครับ ถ้าทุกคนคิดได้อย่างนี้กรรมในระดับประเทศคงจะทุเลาลงแน่เลย ถือว่าโอมได้ทำกุศลที่ยิ่งใหญ่อีกแล้ว

เขียนยาวไปหน่อยนะครับ ผมเล่าให้พี่ฟังเผื่อว่าพี่จะมีข้อเสนอแนะอะไร ที่เป็นประโยชน์ ทั้งแ่ก่ผมและแก่สังคม คงไม่มีสิ่งใดเพิ่มเติม นอกจากขออวยพรให้โอมถึงฝั่งในเร็ววันนะครับ เหมือนดังที่พี่ได้แนะนำอาจารย์ที่ดีอย่างอาจารย์ปราโมทย์ ให้ผมแล้วรอบหนึ่งความรู้สึกผมพี่ก็เหมือนพี่ชายคนนึงที่ผมนับถือและขอบคุณอยู่ในใจเสมอ พี่คงไม่ว่าอะไรนะครับถ้าผมจะกล่าวขอบคุณอีกรอบ ยินดีมากครับที่ได้มีโอกาส
มีส่วนในการส่งเสริมการปฏิบัติของโอม ถ้ามีสิ่งใดที่พี่ช่วยได้ก็ยินดีนะครับ ( ^_^ ) มีโอกาสคงได้พบกันอีก

ขอบคุณครับ ขอบคุณจริง ๆ

โอม

Monday, May 23, 2005

วันที่ ๒๕๓ วัดป่าภูผาสูง

วัดป่าภูผาสูงเป็นวัดที่เคยมาหลายครั้งแล้ว ตอนที่บวชก็ได้มาพักที่นี่ระยะหนึ่ง ที่วัดนี้ถือว่าสถานที่เป็นสัปปายะ เหมาะแก่การภาวนา ได้รู้จักกับท่านอาจารย์มหาธีรนาถ ก็เลยได้ช่วยงานท่านตามโอกาสอันควร และก็ได้ไปที่วัดป่าบ่อย ๆ ท่านอาจารย์มีผลงานทางด้านธรรมะ ที่มีคุณภาพค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นสารคดี เทศน์ และงานหนังสือต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น หนังสือพ่อแม่ครูบาอาจารย์ มหาบุรุษ ประวัติหลวงปู่เจี๊ยะ ประวัติหลวงปู่สุวัจน์ พระอานนท์พุทธอนุชา อิสิทาสีภิกษุณี สภาภิกษุณี ฯลฯ

วันนี้เป็นวันวิสาขบูชาก็เลยขึ้นมาช่วยงานท่านอาจารย์ตามสมควรไม่ได้คุยกับท่านนานนักเพราะญาติโยมมาเยอะ โดยปกติจะนั่งคุยกับท่าน นาน ๆ และก็คุยกับท่านเรื่องทำ www.pupasoong.com ให้ท่านนิดหน่อย หลังจากนั้นจึงเดินทางต่อไปสระบุรี เพื่อไปงานขึ้นบ้านใหม่ของน้า แต่สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมพุทธเป็นอย่างยิ่งคือ งานขึ้นบ้านใหม่ครั้งนี้จัดใหญ่โตมีการกินเหล้าเมามาย เห็นสภาพแล้วไม่น่าดู ถ้าคิดว่าเป็นฤกษ์ดีในการขึ้นบ้านใหม่เป็นวันวิสาขบูชา เป็นวันพระใหญ่ ใหญ่ที่สุดในบรรดาวันพระใหญ่ทั้งหมดเลยด้วย แล้วตอนเย็นมาจัดงานเลี้ยงเหล้าเมามายแบบนี้ไม่ถูกต้อง ไม่ควรทำ ผมไม่ขอพูดเรื่องเป็นมงคลหรือไม่เป็นมงคลก็แล้วกัน เพราะพระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ถือมงคลตื่นข่าว ประเภทฤกษ์ยาม ท่านให้ถือมงคลตื่นตัว มีสติ ทำดีตอนไหนก็ดีตอนนั้น ทำดีที่ไหนก็ดีที่นั่น แต่สิ่งที่ควรตระหนักให้มากคือ วันนี้เป็นวันที่ชาวพุทธพร้อมใจกันรำลึกถึงพระพุทธเจ้า รำลึกถึงคุณของท่านที่ท่านได้มอบศาสนาที่ดีมีค่าแก่เรา แต่การมาจัดงานแบบนี้ไม่เพียงเป็นการไม่ฟังคำสอนของพระองค์ มิหนำซ้ำยังเป็นการแสดงความไม่เคารพในพระพุทธเจ้าอีกด้วย ถ้าจะจัดจริง ๆ อย่างน้อยที่สุดก็หลีกเลี่ยงไปจัดวันอื่น ไม่ใช่วันวิสาขบูชา มองเห็นคนเมา เต้นหน้าเวที เกี้ยวพาราสีนักร้อง หางเครื่อง แล้วสังเวชใจ เกิดความสลดหดหู่ใจ นี่หรือคนที่นับถือศาสนาพุทธ ขออย่าได้มีคนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างอีกเลย

Monday, May 02, 2005

วันที่ ๒๓๒ หลวงปู่ทา จารุธัมโม

ชวนเพื่อน ๆ ไปวัดถ้ำซ้ำมืด ของหลวงปู่ทา จารุธัมโม พอเดินเข้าไปในวัดและดูรอบ ๆ ก็พอจะเดาได้ว่าท่านเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่งในประเทศไทย เพราะที่วัดจะเขียนป้ายไว้ชัดเจนว่า ไม่มีเครื่องราง ของขลัง พระเครื่อง พระเหรียญ อะไรทั้งสิ้น นี่แหละแนวทางของพระแท้ ของพระพุทธเจ้า เข้าใจว่าทางวัดประกาศไว้ป้องกันคนแอบอ้างกลัวว่าญาติโยมจะโดนหลอก ส่วนตัววัดเองก็สะอาดร่มรื่น อยู่ในป่าในเขาลึกมาก ทางเข้าก็ลำบาก แต่ญาติโยมไม่รู้มาจากไหนเต็มไปหมด เราขับรถเข้าไปยังรู้สึกว่ามันลำบาก แต่คนก็มากันไม่หยุด

พอเดินไปที่กุฏิท่าน สิ่งที่ประทับใจมาก ๆ ก็คือ องค์ท่านนั้นถึงแม้อายุจะมากขนาดนี้ แต่สติสัมปชัญญะ นั้นดูท่านปกติดีมาก และหน้าท่านจะผ่องใสมาก ในความรู้สึกเราผ่องเหมือนที่ เคยเห็นหลวงปู่ศรี มหาวีโร กับอาจารย์ปราโมทย์ เหมือนครั้งสมัยพุทธกาล ที่ท่านสารีบุตรได้เจอกับ พระอัสสชิ ครั้งแรก และได้กล่าวคำพูดกับพระอัสสชิว่า "อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวช เฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน" ผู้ที่ปฏิบัติได้ดีส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นอย่างนี้ กินน้อย นอนน้อย งดเว้นกามราคะ จิตใจผ่องใส ทำให้กายของท่านผ่องใสไปด้วย นั่งดูท่านแล้วจิตเย็น ๆ ก่อให้เกิดความสงบร่มเย็นในใจของเรา

ตอนสาย ๆ ได้มีโอกาสเข้าไปขอคำแนะนำการภาวนากับท่าน ท่านก็แนะนำให้ มีสติ สัมปชัญญะ กำหนดดูจิตใจไว้ ท่านจะสอนง่าย ๆ แค่นี้ คนธรรมดาอาจจะฟังว่าธรรมดา แต่สำหรับเราทราบแล้วว่านี่แหละคือทางสายเอก มีบางอย่างที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่ท่านพูดเรื่องใจ ขอเก็บไว้ก่อนไม่อธิบายเพราะไม่มีประโยชน์มากนัก เพราะมันอยู่ในชั้นของความคิด ไม่ใช่ความจริง หรือสภาวะจริง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะตัวที่สงสัย ตัวที่ไม่เข้าใจ มันเป็นสมอง ไม่ใช่จิต

Tuesday, April 26, 2005

วันที่ ๒๒๖ อยากบวช

หลังจากกลับมาจากอาจารย์ ดูเหมือนว่าจิตมันวนเวียนอยู่กับคำว่า “จะบวชเหรอ” ของท่านอาจารย์ วนไปวนมาแต่ไม่หนักมาก แต่คำพูดของท่านอาจารย์มากระตุ้นความอยากบวชที่ฝังอยู่ในใจให้ แต่ก็ยังไม่เท่าไร

เมื่อวานพาแฟนไปโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็ม แล้วแฟนเขาก็ถามเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ว่ามันหายไปไหน เขาสงสัยว่าเราใช้เกินไปหรือเปล่า เราเองไม่ได้ใช้จ่ายมั่ว ๆ และก็ไม่ได้ซื้อของชิ้นใหญ่ ๆ และก็ไม่ได้ซ่อนได้โกงอะไรเลย มันก็เลยเป็นสาเหตุให้อารมณ์เสียขึ้นมาทันที ก็รู้สึกตัวอยู่นะว่าอารมณ์มันเปลี่ยน แต่มันไม่หาย แต่การอารมณ์เสียหรือโกรธนี้ไม่สำคัญเพราะเดี๋ยวมันก็หาย แต่สิ่งสำคัญก็คือ เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนการกระตุ้นความอยากบวชเป็นครั้งที่สองในเวลาไล่เลี่ยกัน หลังจากประโยคที่แฟนเขาพูดจบได้ครู่เดียวก็เกิดคลื่นความคิด (จิตมันโดนลากไปอยู่ในโลกของความคิด ด้วยอำนาจของความอยาก) ว่าเออชีวิตคู่มันก็เป็นแบบนี้นะ หาความสุขที่แท้จริงไม่ได้หรอก มีแต่ทุกข์ไปวัน ๆ นั่นแหละ แล้วความคิดเรื่องการบวช ลูกแล้วลูกเล่าก็เกิดขึ้น จะบวชอย่างไร เมื่อไหร่ เร็ว ๆ นี้จะทำได้ยังไง มาเป็นขบวนเลยคราวนี้ เหตุผลสารพัดระเพความคิดมันไปซอกแซกหามาให้ ว่าทำไมต้องบวช บวชแล้วจะดีอะไร อายุก็พอสมควรกำลังดี ชีวิตอยู่ไปจะดีอะไรเดี๋ยวไม่กี่ปีก็แก่ ก็ตายแล้ว มัวแต่ทำเรื่องไร้สาระอยู่นี่แหละ ดูท่านอาจารย์สิ กว่าจะเรียนจบกว่าจะทำงาน สุดท้ายท่านก็ออกบวช อีกแค่ไม่กีปีเราก็จะอายุเท่าท่านเหมือนกัน อีกอย่างพระดี ๆ ที่เป็นพระของพระพุทธเจ้า เป็นพระเหมือนครั้งสมัยพุทธกาลจริง ๆ นั้นหายากเหลือเกิน สิ่งที่เราทำอยู่เป็นวิศวกร เป็นโปรแกรมเมอร์ ที่ดี ของสังคมนั้น พอจะหาได้อยู่มาก ไม่มีเราก็ไม่เสียหายอะไรมาก แต่พระแท้ ๆ ของพระพุทธเจ้า ผู้ที่บวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง และก็ทำตามสิ่งที่พระศาสดาสอนอย่างเคร่งครัดและถูกต้องนั้นหายากเหลือเกิน แต่ถ้าเราบวชเราจะเป็นพระแท้ของพระพุทธเจ้าให้ได้ เพื่อตัวเรา เพื่อสังคม และเพื่อพระพุทธศาสนา

ในระหว่างที่จิตหาเหตุผลของการบวชมา ก็จะนึกถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างบวช คือช่วงที่มันจะทนไม่ได้ ช่วงที่อยากสึกก็จะมีแน่นอน จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน เราจะผ่านมันไปได้อย่างไร จิตของเรามีภูมิต้านทานเพียงพอแก่อาการอยากสึก ระหว่างที่บวชหรือยัง ถ้าจะบวชจริง คงต้องปรึกษาอาจารย์หนัก ๆ สักครั้งหนึ่ง

สองหน้าของสัจจธรรม พอดีไปอ่านเจอคำสอนของหลวงปู่ชา ในชีวิตของเรามีทางเลือกอยู่สองทาง คือคล้อยตามไปกับโลก หรือพยายามปฏิบัติให้อยู่เหนือโลก พระพุทธเจ้านั้นท่านทรงปฏิบัติจนพระองค์เองทรงพ้นโลก ด้วยการตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ในทำนองเดียวกัน ปัญญาก็มีสอง คือปัญญาโลกีย์ กับปัญญาโลกุตตระ หากเราไม่ภาวนาฝึกปฏิบัติอบรมตนเอง ถึงจะมีปัญญาปานใด ก็เป็นเพียงปัญญาโลกีย์ เป็นโลกียวิสัย จะหลุดพ้นโลกไปไม่ได้ เพราะโลกียวิสัยนั้น มันเวียนไปตามโลก เมื่อเวียนคล้อยไปตามโลก จิตก็เป็นโลกคิดอยู่แต่จะหามาใส่ตัว อยู่ไม่เป็นสุข หาไม่รู้จักพอ วิชาโลกีย์เลยกลายเป็นอวิชชา หาใช่วิชชาความรู้แจ้งไม่ มันจึงเรียนไม่จบสักที เพราะมัวไปตามลาภ ตามยศ ตามสรรเสริญ ตามสุข พาใจให้ติดข้องเป็นกิเลสกองใหญ่

คนอยู่ครองโลก ครองบ้าน ครองเมือง ทำทุกอย่างก็อยากให้มันสำเร็จ แต่ไม่มีทางสำเร็จหรอก เรื่องของโลกมันจบไม่เป็น ถ้าทำตามโลกแล้วจบได้ พระพุทธเจ้าท่านก็คงทรงทำแล้ว เพราะท่านครองโลกอยู่ก่อน แต่นี่มันทำไม่ได้

ว่าจะทำให้หมดนั้น มันหมดไม่เป็นหรอก เหมือนกันกับพ่อค้า พบใครก็ว่าถ้าหมดหนี้หมดสินแล้วจะบวช เมื่อไรมันจะหมดเป็น เพราะพอหมดหนี้เก่า ก็กู้มาใหม่อีก พ่อค้าก็ไม่มีวันหมดหนี้หมดสิน เมื่อกู้ไม่หยุด แล้วจะหมดได้อย่างไร นี่แหละปัญญาโลกีย์ มาฝึกทางโลกุตตระ โลกุตตระนี้อยู่ได้ยาก ผู้ใดหวังมรรค หวังผล หวังนิพพาน จึงจะทนอยู่ได้

Sunday, April 24, 2005

วันที่ ๒๒๔ กราบอาจารย์ปราโมทย์ครั้งที่ ๓

พาน้าอ้อด วิยดา อาษากิจ ไปกราบอาจารย์ปราโมทย์ ตัวเราเองไปเป็นครั้งที่ ๓ แล้ว วันนี้รู้สึกตื่นเต้นกลัว ๆ เวลานั่งอยู่หน้าท่าน โดนท่านทักว่าเรากลัวท่านด้วย ตอนท้ายไปกราบท่าน ให้ท่านแนะนำวัดที่เข้าท่า แถว ๆ โคราช ท่านถามว่า จะบวชเหรอ (คำนี้เหมือนอะไรบางอย่างพุ่งเข้ามาในใจ) ก็เลยบอกท่านว่า เพื่อน ๆ เขาฝากมาถาม ท่านก็เลยแนะนำวัดถ้ำซับมืด ของหลวงปู่ทา อยู่ที่ปากช่อง

Thursday, April 21, 2005

วันที่ ๒๒๑ กลับมาอีกครั้ง

หยุดบันทึกไปนานหลังจากลาสิกขามา ก็ไม่ได้บันทึกเพิ่มเติมอีก แต่การภาวนาไม่ได้หยุดนะ ไปหาอาจารย์ปราโมทย์มาแล้วสองครั้ง ยังเจริญสติมาเรื่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ แต่รู้สึกว่าจิตมันจะขี้เกียจเกินไป มันขี้เกียจทุกข์ ก็ไม่ทุกข์ ขี้เกียจสุข ก็ไม่สุข แล้วมันไม่ค่อยเอาสาระกับอะไรเท่าไร เหมือนกับคนไม่เอาจริง เอาจังกับชีวิตเสียแล้ว แต่ก็ดีนะเบา ๆ ดี แต่มีข้อเสียคือเหลวไหลไปหน่อย ทำให้อะไร ๆ หย่อนไปพอสมควร เช่นไม่ตื่นแต่เช้าเหมือนแต่ก่อน แต่มันไม่ทุกข์นะ (ทุกข์น้อยกว่าแต่ก่อนมาก เพราะส่วนใหญ่ความคิดมันจะดับเมื่อมีสติ พอความคิดดับ ความทุกข์ก็หายหัวตามกันไป) แต่ว่าจะลองแนวทางใหม่ ว่าจะทำอะไรฝากไว้ให้ชาวโลก ให้สังคม เท่าที่จะทำได้ การปล่อยไปแบบนี้ กับตัวเองก็ดีไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าขยันทำอย่างอื่นเพิ่มบ้างอาจจะทำให้มีกำลัง เผยแพร่ คุณงามความดี และ เผยแพร่พระพุทธศาสนาได้มากกว่านี้ก็เป็นได้ ต้องลองดู

Saturday, March 05, 2005

วันที่ ๑๗๕ กราบอาจารย์ปราโมทย์ครั้งที่ ๒

ออกเดินทางจากโคราชไปพักกับน้องสาวที่กรุงเทพฯ หนึ่งคืน ก่อนออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่ไปกาญจณบุรี ขณะเดินทางมีความร้อนรนใจพอสมควร เพราะเกรงว่าจะไปไม่ทัน ถึงแม้จะมีสติอยู่ตลอดทางแต่ ความกังวลมันก็ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ คิดดูขนาดจะเดินทางไปวัดเพื่อไปหาบุญหากุศล จิตมันยังเป็นอกุศลได้ ความกังวลผุดมาเป็นระยะ ๆ ซึ่งถือเป็นโทสะประเภทหนึ่ง คือเป็นความกลัว กลัวว่าจะไปไม่ทันนั่นเอง แล้วก็ลงท้ายด้วยความทุกข์ กังวลหนึ่งครั้ง ปรุงหนึ่งครั้ง ก็ทุกข์ไปหนึ่งครั้ง แล้วก็ดับไปไม่มีอะไรเหลือ แต่ขึ้นชื่อว่าทุกข์ ไม่ว่าจะทุกข์เล็กทุกข์น้อยไม่มีอะไรดี

เดินทางไปถึงวัดพบว่าญาติโยมเต็มศาลากำลังถวายอาหาร แต่เราไม่ได้เอาอาหารไปเพราะแค่จะมาให้ทันก็จะแย่แล้ว ในความรู้สึกส่วนตัวจะอยากถวายอาหารท่านมากเพราะไม่รู้จะตอบแทนบุญคุณท่านอย่างไรจึงจะสมควรแก่สิ่งที่เราได้รับจากท่าน การถวายอาหารคงเป็นส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอจะทำได้เอาไว้วันหลังจะพยายามมาให้ทันถวายอาหารท่านให้ได้ พอเข้าไปถึงก็เข้าไปกราบท่าน ท่านก็มองมาทางเรานิดหน่อยแล้วก็ยิ้ม แล้วท่านก็ให้พรสำหรับคนที่ถวายอาหาร เราก็เลยได้รับพรไปด้วย พอรรับพรเสร็จก็ลงไปรับประทานอาหารกับญาติโยมคนอื่น ๆ

พอทานอาหารเสร็จก็พากันขึ้นมานั่งรอท่านบนศาลา ท่านเดินผ่านเราก็ทักว่าเป็นไงบ้าง เรานี่ดีใจแทบตาย แค่ท่านทักก็มีความสุขแล้ว แล้วท่านก็เดินไปนั่ง พอกราบพระเสร็จ ท่านก็เริ่มหันมาคุยกับญาติโยม ท่านก็หันมาถามเราก่อน ว่า "เป็นไงเราสึกแล้วเหรอ สึกตั้งแต่เมื่อไร" เราก็ตอบท่านวา ศึกตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม แล้วท่านก็เริ่มสอนญาติโยมตามวิธีของท่าน วันนั้นเรานั่งด้วยจิตที่มีความสุขชอบกล แล้วท่านก็หันมาถามว่า "เป็นไงบ้างภาวนา" เราก็ตอบว่า เรื่อย ๆ ครับ แล้วท่านก็ถามต่อว่า เรื่อย ๆ นี่ "กุศลหรือ อกุศล" เราก็ตอบว่า อกุศลครับ ท่านก็บอกว่า "ก็ดีแล้วนะจิตเป็นอกุศลก็รู้ว่าอกุศลนี่ดีแล้ว" แล้วท่านก็สอนคนอื่นต่อ คำว่ากุศลและอกุศลในที่นี้ หมายความว่า มีสติ หรือไม่มี จิตที่มีสัมมาสติขณะใด ถือว่าจิตเป็นกุศลขณะนั้น แต่ถ้าขาดสติเมื่อใดเป็นอกุศลเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นคำว่าอกุศลในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการที่มีความคิดหยาบช้า เลวทราม ลามก เหมือนความหมายที่คนทั่ว ๆ ไปเข้าใจกัน เพราะฉะนั้นวันทั้งวันเราก็จะมีแต่จิตที่เป็นอกุศลอยู่ทั้งวัน ถึงแม้ว่าขณะนั้นกำลังคิดถึงเรื่องดี ๆ อยู่ ก็เป็นการหลงไปในโลกของความคิด ซึ่งการหลงทุก ๆ อย่างถือเป็น อกุศลธรรม ทั้งหมด เพราะฉะนั้นวันทั้งวันเราจึงมีแต่อกุศล แต่ถ้าเรารู้สึกตัว มีสติขึ้นมาทีหนึ่ง ตัวอกุศลก็ขาดลงทีหนึ่ง เพราะฉะนั้น ที่ท่านบอกว่า "ก็ดีแล้วนะจิตเป็นอกุศลก็รู้ว่าอกุศลนี่ดีแล้ว" ตรงที่ดีคือตรงที่รู้ ไม่ใช่จิตเป็นอกุศลมันดีหรอกนะ

ขณะนั่งฟังเทศน์พยายามมีสมาธิไม่ให้จิตเผลอไปคิดเรื่องอื่น ๆ ถ้าเผลอก็ไปไม่นาน ไม่เกิน ๑ หรือ ๒ วินาทีก็จะกลับมาฟังท่านต่อแล้วก็มีสติเป็นระยะ ก็ถือว่าดีเพราะถ้าเราเผลอนานหน่อยท่านจะทักว่าเผลอไปแล้วนะ เหมือนครั้งแรกที่มา แต่วันนี้ไม่โดนทักเลยก็ถือว่าดี แต่คนอื่นก็โดนกันตามธรรมเนียม ใครเผลอบ่อยท่านก็ทักบ่อย แต่บางคนยังปฏิบัติไม่เป็นเท่าไร ท่านก็จะไม่ทักเพราะเดี๋ยวตกใจ เกร็ง แล้วอึดอัด

Thursday, January 27, 2005

วันที่ ๑๓๗ กลับมาเป็นฆารวาสอีกครั้ง

วูบแรกที่กลับมาเป็นฆารวาส สิ่งที่เห็นชัดเจนมากคือ ทำไมชีวิตมันรกรุงรังขนาดนี้ อะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด แค่ในห้องนอนก็มีอะไรต่อมิอะไรนับไม่ถ้วนแจกแจงไม่ไหว ตอนบวชมีแค่บาตร กลด แล้วก็บริขารแปด เบาสบายเหลือเกินจะไปไหนก็เดินไป (ขนาดมีแค่นี้เวลาแบกเดินยังหนักเลย ดีแต่ว่าไม่หนักใจนั่นเอง) เก็บของแป็บเดียวเสร็จ แต่ตอนนี้มันรกเหลือเกิน รก จริง ๆ ชีวิตมนุษย์เนี่ย