Thursday, October 20, 2005

อาจารย์ให้พร อันเป็นมหามงคล (ครั้งที่ ๕)

ออกเดินทางจากโคราชตั้งแต่เย็นเมื่อวานพร้อมกับแม่และน้องชาย ระหว่างการเดินทางได้เปิดเพลงประวัติหลวงปู่มั่นให้แม่และน้องชายฟัง และก็พยายามอธิบายนิด ๆ หน่อย ๆ พอไปถึงกรุงเทพฯ ก็เข้าไปพักกับน้องสาว ตอนเช้าตื่นตี ๔ เดินทางไปกาญจนบุรีตั้งแต่เช้า วันนี้ตั้งใจจะไปใส่บาตรท่านอาจารย์ให้ได้ แต่ก็ไม่ทันอีกแล้ว คิดว่าท่านคงบิณฑบาตกลับมาแล้ว แต่ก็ยังดีหน่อยที่ได้ถวายอาหารที่เตรียมมา

วันนี้มาทันช่วงเช้าเป็นครั้งแรกพอเริ่มต้น แต่ละคนก็ถามใหญ่ ดูคำถามแต่ละคนใช้ได้ทีเดียว หลายคนเก่งทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ เราก็ไม่ได้คุยกับท่านเพราะเวลาไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ วันนี้ท่านอาจารย์อธิบายเรื่องจิตขณะเขาปฏิวัติตัวเองหรือพลิกภูมิ จนกระทั่งถึงขณะจิตที่เขาแหวกโมหะ แล้วปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ให้กลับไปอยู่กับธรรมชาติ จักรวาล ไม่ยึดถือเอามาเป็นของตนอีกต่อไป สำหรับผมเป็นธรรมเทศนาที่ลึกซึ้งมาก และท่านก็เสริมอีกว่าบางครั้งจิตมันเจ้าเล่ห์มาก เราปฏิบัติไปเหมือนก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ จู่ ๆ วันนึงมันแสดงละคร หลอกเราก็มี แสดงเป็น ฉาก ๆ หลอกเราว่าเราได้ขั้นนั้นขั้นนี้ ต้องระวังให้ดีเดี๋ยวโดนมันหลอกเอา หลายคนมาที่นี่นึกว่าตัวเองได้ขั้นนั้นขั้นนี้มีอยู่หลายคน แล้วท่านก็ให้พรฉันอาหาร

หลังจากนั้นก็มานั่งกินข้าวกับเพื่อน ๆ ด้านล่าง ก็เลยถามน้องสองคนว่ารู้เรื่องหรือเปล่า ทั้งสองคนตอบเหมือนกันว่าไม่รู้เรื่องเลย เพราะไม่มีความรู้ธรรมะติดหัวมาเลยแม้แต่น้อย นี่เป็นปัญหาที่สำคัญของสังคมไทยอีกแบบ เด็กโตมาจนมีอายุขนาดนี้ (มากกว่า ๒๐) แน่นอนชีวิตต้องมีปัญหาและความทุกข์ แต่เครื่องมือสำคัญในการจัดการกับทุกข์ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านประทานไว้ แทบจะไม่มีอยู่ในมือของคนไทยเอาเสียเลย ก็เลยต้องปล่อยให้จิตใจกลิ้งไป ตามแรงกระทบกระทั่งของอารมณ์ต่าง ๆ โดนซ้ายทีขวาที ไม่มีอะไรพอที่จะไปแก้ไขรับมือหรือต่อกรได้เลย ก็เลยบอกน้องว่าสงสัยอะไรให้ถามอาจารย์เลย น้องเขาก็บอกว่าเขาไม่รู้อะไรเลย และก็ไม่เคยปฏิบัติธรรมมาก่อนเลย ผมก็บอกว่าไม่เคยปฏิบัติก็บอกอาจารย์ว่าไม่เคยปฏิบัติ

ช่วงสายอาจารย์ก็เริ่มถามว่าแต่ละคนภาวนาเป็นอย่างไรบ้าง พอมาถึงเรา เราก็ถามอาจารย์ในเรื่องที่สงสัยคือเรื่องศีล ว่าศีลตัวเองบริสุทธิ์พอหรือยัง จะรู้ได้ยังไง เรายกตัวอย่างเช่นตอนเช้าเราอาบแล้วมดอยู่บนพื้นห้องน้ำมันตายถือว่าศีลเราด่างพร้อยหรือเปล่า อาจารย์ก็ถามว่าเรามีเจตนาหรือเปล่า ถ้าไม่มีเจตนาศีลก็ไม่ขาด เพราะไม่ครบองค์ประกอบ องค์ประกอบที่ทำให้ศีลข้อ ๑ ขาด จะต้องประกอบด้วย ๕ อย่างคือ ๑. รู้ว่าสัตว์มีชีวิต ๒. สัตว์นั้นมีชีวิตจริง ๆ ๓. มีเจตนาที่จะฆ่า ๔. ได้ลงมือฆ่า ๕. สัตว์นั้นได้ตายเพราะการฆ่า ถ้าไม่ครบทั้ง ๕ ข้อนี้ ก็ไม่ถือว่าศีลขาด ท่านถามเราว่า เรามีเจตนาจะอาบน้ำหรือจะทำให้มดเปียกน้ำ เราก็ตอบว่าเราจะอาบน้ำ แล้วท่านก็เล่าให้ฟังว่าท่านก็เคยเป็นเหมือนกัน ตอนสมัยไปอยู่วัดป่าพอจะอาบน้ำกลัวมดเปียก ท่านก็หนีไปอาบที่อื่น พระรูปหนึ่งก็มาบอกท่านว่า เป็นลักษณะของการวิตกกังวลในศีลเกินเหตุ (ท่านบอกภาษาบาลีด้วยแต่ผมจำไม่ได้) ศีลมีไว้ให้รักษาแล้วรู้สึกสบายไม่เกิดการเบียดเบียน ไม่ใช่รักษาศีลแล้วอึดอัด แต่ท่านก็สรุปตอนท้ายว่า แล้วอย่าไปเจ้าเล่ห์เด็ดขาด ทำเป็นแกล้งไม่มีเจตนา แต่มือไปโดนตายเอง อะไรแบบนั้นไม่ได้ แล้วท่านก็บอกให้เราทำสมถะบ้าง สวดมนต์ไหว้พระ ในถานะที่พระพุทธเจ้าท่านเป็นครูของเรา เราเป็นศิษย์มีครูต้องกราบไหว้ท่านซึ่งถือเป็นบรมครูเพื่อแสดงความเคารพ เป็นผู้กตัญญูรู้คุณ เสร็จแล้วก็นั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง นิด ๆ หน่อย ๆ วันละ ๑๕ - ๒๐ นาที ไม่ต้องทำมาก แล้วอย่าไปตั้งสัจจะ ว่าจะนั่ง ๓ ชั่วโมง เดินจงกรม ๓ ชั่วโมงอะไรแบบนั้น ให้ทำนิด ๆ หน่อย ๆ ก็พอ (สงสัยท่านรู้ว่าเราไม่ค่อยทำสมถะ และก็เป็นคนขี้เกียจแน่เลย)

ก็เลยกราบเรียนท่านเรื่องปฏิบัติว่าเมื่อก่อนจะมีคำถามผุดขึ้นในใจบ่อย ๆ ว่า "ตอนนี้รู้สึกตัวอยู่หรือเปล่า" แต่ก่อนจะติดตรงนี้มากคือจะสงสัยว่าตัวเองรู้สึกตัวอยู่หรือเปล่า แต่เดี๋ยวนี้ไม่ติดแล้ว เพราะพอจิตมันสงสัยแบบนี้ขึ้นมา จะตอบสวนมันไปทันทีว่า "ตอนนี้มึงหลงอยู่ มึงกำลังสังสัยอยู่ มึงไม่ได้รู้สึกตัว" แล้วความสงสัยก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว ท่านก็แนะนำให้รู้ทันจิตที่สงสัยไปเลย (ตรงนี้เวลาปฏิบัติจริงไม่ใช่เรื่องง่าย)

ในขณะที่ท่านกำลังตอบคำถามคนอื่นอยู่นั้น เราก็นั่งฟังไปรู้สึกตัวไปเรื่อย ๆ แบบมั่ว ๆ ตามที่ตัวเองทำมา เพราะไม่รู้ว่าอันที่ถูกนั้นมันเป็นยังไง (อาจารย์เคยแนะนำว่าให้รู้อันที่ไม่ถูกทั้งหมดเดี๋ยวมันจะถูกเอง) แล้วจู่ ๆ อาจารย์ก็หันมาหาเราแล้วก็พูดว่า "เมื่อกี้นี้ถูกนะ ตอนที่เผลอ ๆ แล้วมันรู้สึกตัวขึ้นมาเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ" เกิดมาไม่เคยได้ยินว่าตัวเองทำถูกมาก่อน และก็ไม่คิดว่าจะได้ยินด้วยซ้ำ เพราะยังมั่วอยู่มาก เราก็พยายามย้อนนึกไปดูว่า ไอ้จิตแบบเมื่อกี้ที่อาจารย์ท่านบอก มันตอนไหน เพราะมันจำไม่ได้ มันเกิดความสงสัยแล้วก็พยายามย้อนค้นหาไปในความจำว่าสภาวะเมื่อกี้ที่อาจารย์ท่านบอกมันคือตอนไหน แต่มันก็ไม่รู้มันหาไม่เจอ แล้วอาจารย์ก็พูดว่า "ตอนนี้ไม่ใช่แล้วนะ แต่เมื่อกี้นี้ใช่ ตอนนี้คิดอยู่รู้มั๊ย" ไม่รู้หรอกครับเพราะมันจะหาให้ได้ว่าไอ้จิตแบบเมื่อกี้นี้มันเป็นยังไง สุดท้ายก็หาไม่เจอก็เลยปล่อยมันทิ้ง ช่างหัวมัน แล้วอาจารย์ก็คุยกับคนอื่นต่อ ส่วนเราก็แอบปลื้มหน่อย ๆ ในที่สุดก็ถูกซักครั้ง

แล้วอีกช่วงอาจารย์ก็หันมาถามเราว่า "ตอนนี้ทำอะไรอยู่" เราก็ดูตัวเองเห็นเป็นว่าง ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าง เพียงแต่มันไม่มีความคิดที่เป็นคำ ๆ หรือเป็นประโยค พูดแจ้ว ๆ เหมือนปกติที่มันเป็น แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรอยู่ จะตอบอาจารย์ว่าทำอะไรอยู่ก็ตอบไม่ได้เพราะมันไม่รู้ มันเป็นสภาวะที่แปลกมาก นั่งดูจิตตัวเองอึ้งอยู่นาน ตอบอาจารย์ไม่ได้ อาจารย์ท่านก็เลยยิ้มเบา ๆ แล้วก็พูดว่า "กำลังคิดอยู่รู้หรือเปล่า" อะไรนะแบบนี้ก็เรียกคิดเหรอ มันเป็นสภาวะคิดที่แปลกมาก มันคิดแบบไม่มีคำพูดก็ได้หรือนี่ ประหลาดจริง ๆ ชักงงกับสภาวะแบบนี้กันใหญ่ ก็ไม่เข้าใจอยู่ดี สุดท้ายก็ปล่อยมันทิ้ง กลับมารู้สึกตัวแบบมั่ว ๆ แบบเดิมที่ตัวเองถนัดดีกว่า

แล้วช่วงสุดท้ายอาจารย์ก็หันมาทางเราแล้วก็บอกเราว่า เราเนี่ยภาวนาดีนะ เอ๊ะเราหูฝาดไปหรือเปล่า ฝาดไม่ฝาดก็ช่างมัน อาจารย์ท่านบอกว่าดี ก็รับไว้ก่อน ก็เลยตอบท่านว่า "ครับ" ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้หรอกว่าไอ้คำว่าภาวนาดีนี่มันดียังไงเพราะมันยังมั่ว ๆ อยู่เลย แล้วท่านก็ถามต่อว่า "จะบวชเมื่อไหร่" เราไม่เข้าใจคำถามว่าท่านหมายถึงตอนที่เราบวชครั้งที่แล้วหรือเปล่า ท่านก็เลยบอกว่า "อันที่แล้วก็แล้วไป อันใหม่นี่จะบวชเมื่อไหร" คำถามนี้ก็ไม่คาดคิดอีกเหมือนกัน แต่ใจก็ไม่ได้รู้สึกแปลกกับคำถามนี้ ก็เลยตอบท่านไปว่า ตั้งใจไว้ว่าจะบวชอยู่ครับ แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าวันไหน ท่านก็ถามว่า "ยังมีบางอย่างติดค้างอยู่เหรอ" เราก็ตอบว่า ครับ ท่านก็บอกว่า "ก็จัดการให้เสร็จแล้วก็มาบวชซะ แล้วก็ทำให้จบในชาตินี้" ได้ยินคำนี้ไม่รู้จะบอกความรู้สึกว่าอย่างไรดี แล้วท่านก็พูดต่อว่า "ไม่ต้องรอชาติหน้า ชาติต่อไปหรอก" เกิดมาผมไม่เคยรู้สึกซึ้งถึงการรับพรเท่าไรนัก เพราะปกติเวลาทำบุญก็ไม่ได้ต้องการพรจากพระท่านอยู่แล้ว ทำไปถ้าได้มันก็ได้เองถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ได้ทำบุญเพื่อที่จะเอาอะไรอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเวลาพระท่านให้พรจิตผมจะเป็นธรรมดากลาง ๆ แต่สิ่งที่อาจารย์กล่าว ผมว่ายิ่งกว่าพร เป็นมหามงคล มหาพร ตั่งแต่เกิดมาคิดว่านี่เป็นพรที่ดีที่สุดในชีวิต ไม่มีอะไรมาเปรียบเทียบได้ ชาตินี้ผมจะทำจบจริงหรือไม่ก็ช่างมัน แต่ได้มาเจออาจารย์ที่ดี ๆ เก่ง ๆ มีเมตตาสูง อย่างนี้ท่านมาให้กำลังใจก็ถือว่าเป็นมงคลอันยิ่งของชีวิตแล้ว

บุญคุญที่ท่านมีต่อเราตั้งแต่วันที่เริ่มต้นภาวนาจนถึงวันนี้ ไม่รู้ตอบแทนอย่างไรถึงจะหมด สิ่งที่พอจะตอบแทนได้อย่างสมน้ำสมเนื้อคงไม่ใช่ข้าวของเงินทองหรือสิ่งอื่นใด นอกจากการ ปฏิบัติภาวนา เพื่อเป็นสิ่งบูชาที่ท่านอุตส่าห์ยอมลำบากลำบนสอนกว่าจะเข้าใจ ทำได้แต่ละขั้นแต่ละตอน

ส่วนน้องชาย น้องสาว และแม่นั้นท่านก็แนะนำให้ตามสมควร สำหรับผู้มาใหม่ ดูแล้วน้องชายจะเข้าใจเร็วกว่าคนอื่น ส่วนแม่นั้นยังติดในขั้นความคิดของตัวเองอยู่เยอะ ต้องถอดตรงนี้ออกให้ได้ก่อน ไม่งั้นคงไม่ถึงไหน

แล้วก็กราบลาท่านเดินทางกลับ วันนี้สติดีทั้งวัน มันดีจริง ๆ นะ ดีตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั่งไปวัด ขับรถกลับจนถึงโคราชมันดีตลอดทางเลยนะ ไม่น่าเชื่อ ไม่รู้ว่ามันดีเพราะนอนน้อย หรือดีเพราะท่านอาจารย์ให้กำลังใจกันแน่

วันนี้เป็นวันที่น่าจดจำอีกวันหนึ่งของชีวิต

Sunday, October 02, 2005

ธรรมะประสาย่าหลาน ในยุคไอที

ตั่งแต่เด็ก ๆ ย่าจะเป็นคนที่สอนธรรมะผม ย่าพยายามสอนผมว่าให้เป็นคนดี ให้อยู่ในศีลกินในธรรม ย่าสอนผมให้หัดภาวนา แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าเหตุการณ์จะเปลี่ยนไป เหมือนกับย่าขึ้นบันไดไปอยู่ขั้นที่หนึ่งแล้วพยายามดึงให้ผมขึ้นบันไดไปด้วย พอผมขึ้นไปผมก็ก้าวขึ้นต่อไปไม่หยุดอยู่กับที่ ขึ้นไปขั้นที่สองขั้นที่สาม แต่พอหันกลับมามองดูย่าพบว่า อ้าว... ทำไมย่า ยังอยู่ที่เดิม

นับตั้งแต่ผมมาศึกษาอย่างจริงจัง อ่านหนังสือ อ่านพระไตรปิฎก และคิดพิจารณาตามเหตุตามผล ผมก็มารู้ว่าย่ายังเข้าใจพระพุทธศาสนาคลาดเดลื่อนไม่ตรงมุมที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเท่าไรนัก มีความคลาดเคลื่อนอยู่หลายจุด อีกทั้งการปฏิบัติตนนั้นก็ย่อหย่อนกว่าผมเสียอีก ยกตัวอย่างง่าย ๆ ศีลห้านั้นผมตั้งใจรักษาอย่างเต็มที่ไม่ให้ขาดตกบกพร่องแม้แต่น้อย ส่วนย่านั้นยังขาดเป็นประจำอยู่ตั้งสองข้อก็คือ ฆ่าสัตว์เพื่อประกอบอาหาร และ มุสา เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถึงอย่างไรย่าก็เป็นคนดีเมื่อเทียบกับคนทั่ว ๆ ไป

ด้วยเหตุที่อายุของย่าตอนนี้ก็ ๗๐ กว่าปีเข้าไปแล้ว คงมีเวลาเหลืออยู่ในโลกนี้อีกไม่นานนัก ขันธ์ก็เริ่มทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณเท่าที่กำลังพอจะทำได้ ผมจึงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะทำให้จิตใจของย่ามีพัฒนาการมากกว่านี้ หรืออย่างน้อยถ้าปฏิบัติยังไม่ได้ก็ให้มีความเห็นที่ถูกต้องตามคำสอนของพระบรมศาสดา ผมพยายามสอนย่ามาหลายครั้งแต่ทุก ๆ ครั้งก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยสำฤทธิ์ผลเท่าไรนัก ตั้งแต่สอนคนมาทั้งหมดรู้สึกว่าสอนย่านี้ยากที่สุด การสอนคนที่ไม่ค่อยรู้อะไรเลยง่ายกว่าการสอนคนที่รู้มาแล้ว เพราะการสอนคนใหม่ ๆ เป็นการถ่ายทอดข้อมูล ความรู้ และความเห็น ไปให้เขาเท่านั้น แต่สำหรับคนที่มีความรู้มาแล้วเขาจะมี ทิฐิ คือความเห็น และ มานะ คือความถือตัวว่าตัวเองรู้แล้ว เข้าใจแล้ว จึงไม่ค่อยยอมลงใครง่าย ๆ ต้องงัดสารพัดวิธี สำหรับย่าแล้วผมพยายามทำทุกวิถีทาง ตั้งแต่สอนแบบธรรมดา เอาหนังสือมาเปิดอธิบาย บวชใส่ผ้ากาสวพัสตร์ อยู่ในเพศบรรพชิต เดินทางไปสอน เพื่อให้น้ำหนักของคำพูดมีมากพอที่จะไปเปลี่ยนแปลงความคิดเดิม ๆ รวมทั้งยกพระไตรปิฎกมาอ้างเพื่ออธิบายใจความสำคัญต่าง ๆ แต่ทุกครั้งก็ดูจะไม่สำฤทธิ์ผลเท่าไรนัก

จนกระทั่งครั้งสุดท้ายใช้คอมพิวเตอร์เปิดเพลงประวัติหลวงปู่มั่นที่ เพลิน พรหมแดน ท่านร้องไว้ พร้อมกับเปิดรูปของหลวงปู่มั่นค้างไว้ที่หน้าจอ แล้วพาย่านั่งฟังตั้งแต่ต้น ฟังไปเรื่อย ๆ ถึงตรงไหนสำคัญก็หยุดเพลงไว้อธิบาย เน้นใจความสำคัญ พอเข้าใจแล้วก็เปิดต่อ รู้สึกว่าวิธีนี้ความเห็นใหม่ ๆ ที่ถูกต้องจะแทรกเข้าไปในจิตใจของย่าได้ง่ายกว่า เพราะถ้าเปรียบเทียบกับคำพูดของเราอย่างเดียวนั้นไม่มีน้ำหนักมากพอ ส่วนประวัติของหลวงปู่มั่นนั้น จะว่าไปแล้วเหมือนแทนคำพูดขององค์หลวงปู่ท่าน แล้วเราเป็นเพียงผู้อธิบายขยายความเท่านั้น ปกติย่าของผมท่านมีความศรัทธาในองค์หลวงปู่มั่นอยู่แล้ว ก็เลยทำให้ทุกอย่างดูราบรื่นและสำฤทธิ์ผล


รูป หลวงปู่มั่น ที่เปิดให้ย่าดู
(ไฟล์ต่าง ๆ ที่ผมอ้างอิง สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.pupasoong.com ครับ)
(ใครไม่เคยฟังผมแนะนำอย่างยิ่งนะครับฟังซักรอบไม่เสียชาติเกิดครับ)

เริ่มบรรเลงด้วยดนตรี เสียงกลอง เสียงขลุ่ย เสียงระนาด เสียงปี่ และเครื่องเป่าต่าง ๆ ที่ผสมผสานอย่างลงตัว และเนื้อร้องก็เริ่มขึ้น "น้อมกาย ยอ กร ก้มกราบแนบแทบท้าวท่าน นพอภิวันหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระบูรพาอาจาริโย นอบน้อมมโนเทิดวันทาบูชายิ่งล้ำ อ่านดูข้อวัตร ประวัติผ่านมา แล้วยิ่งศรัทธาจนเกินไขคำ ฝังใจไม่ลืม ปลาบปลื้มดื่มดำ เหมือนได้ฟังธรรม สมัยไกลสุดแห่งพุทธกาล...."

เรื่องราวประวัติของหลวงปู่มั่นเริ่มตั้งแต่ท่านเกิดที่ไหน เมื่อไหร่ บุคลิกท่านเป็นอย่างไร ครอบครัวของท่านเป็นยังไง ท่านบวชอย่างไร จนกระทั่งได้ฉายาว่า ภูริทัตโต

แล้วก็ต่อด้วยเพลงที่สอง "บวชแล้วแน่แน่วศึกษา วิปัสสนากัมมัฏถานเพียรเฝ้า ไม่เว้นทั้งเย็นและเช้า สำนักอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ที่วัดเลียบเมืองอุบล เริ่มต้นอดทนหักโหม ไม่ลดละ ภาวนาพุทโธ น้อมมโนไม่นึกหน่าย เวียนพากเพียรจนได้ ใจนั้นเริ่มมั่นแน่นหนา สติคอยเตือนไม่ลางเลือนคำภาวนา...."

ท่านเริ่มภาวนาด้วยการบริกรรมพุทโธ ขณะอยู่กับหลวงปู่เสาร์ จนจิตรวมไปเห็นนิมิตต่าง ๆ เป็นเรื่องราว ยาวยืด นับไม่หวาดไม่ไหว จารไนยไม่หมดเพราะมันปรากฏเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แตกต่างกันไป ไม่มีประมาณ ท่านติดนิมิตแบบนั้นอยู่ถึงสามเดือน จนกระทั่งสุดท้ายท่านรู้ว่าไม่ถูกทาง เพราะตอนที่อยู่ในสมาธินั้นรู้สึกว่าดี แต่พอออกจากสมาธิประเภทนี้ จิตใจกระทบกับอารมณ์ต่าง ๆ ก็หวั่นไหว เกิดความดีใจ เสียใจ รักชอบ เกลียดชัง ไปตามเรื่องของอารมณ์นั้น ๆ จิตใจไม่หนักแน่นไม่ต่างอะไรกับคนที่เขามิได้ภาวนามาเลย

ถึงตรงนี้ผมก็หยุดเพลงไว้เพื่ออธิบายเพิ่มเติม เพราะย่ามีความเข้าใจว่า วิธีการภาวนา ก็คือ นั่งหลับตาทำสมาธิ จนกระทั่งจิตลง (ไม่รู้ว่าจะลงไปไหนของท่าน) พอลงเสร็จก็จะเห็นธรรมเอง หรือถ้าไม่เห็นก็ให้ครูบาอาจารย์ท่านที่เก่ง ๆ สอนต่อไปในขั้นสูง ในบางครั้งก็จะไปสวรรค์ไปนรกได้ สุดท้ายก็จะไปนิพพาน ซึ่งอยู่เป็นขั้น ๆ เหมือนบันไดโดยนิพพานนั้นอยู่สูงกว่าสวรรค์ พรหมโลก คือขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วนิพพานอยู่ขั้นสูงสุด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นท่านเข้าใจว่าต้องนั่งสมาธิให้จิตลงให้ได้เสียก่อน

เรื่องนี้ต้องนั่งอธิบายกันอยู่นาน พร้อมทั้งยกตัวอย่างในเพลงซึ่งมีเนื้อหาที่ถูกต้องอยู่แล้ว คือหลวงปู่มั่นท่านไม่อยากให้จิตมันรวมลงไป แล้วไปเห็นนิมิต เห็นนั่นเห็นนี่ หรือเที่ยวเร่ร่อนไปในที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่มีประโยชน์ ท่านพยายามดึงให้จิตนี้อยู่แต่ในร่างกายเท่านั้นเพราะท่านเดินกายคตาสติ คือให้จิตมีสติอยู่ในกายเท่านั้น ตั้งแต่หัวลงมาจนถึงปลายเท้า ตัวท่านเองก็พยายามอย่างหนักเหมือนกันกว่าจะควบคุมให้จิตอยู่แต่ในกายได้ (ในที่นี้หมายถึงไม่ยอมให้จิตคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ นา ๆ ด้วย และต้องคุมกันอย่างนั้นตลอดเวลา ยกเว้นตอนหลับเท่านั้น) พร้อมกันนั้นผมก็อธิบายเพิ่มเติมว่า หลวงปู่มั่นท่านเคยอุปมาอุปไมยไว้ว่า ปกตินั้นคนทำไร่ทำนาเขาทำอยู่บนพื้นดิน ไม่ได้ขึ้นไปทำอยู่บนฟ้าบนอากาศ เขาจึงได้ดอกได้ผลผลิตมาฉันใด การภาวนานั้นก็เหมือนกัน ถ้าจะทำวิปัสสนากัมมัฏถาน ให้ได้ผล นั้นต้องทำที่ รูปนาม ก็คือ กายกับใจ ของเราฉันนั้น ไม่ใช่จะไปทำในนิมิต นิมิตเห็นสวรรค์ นิมิตเห็นนรก หรือนิมิตเห็นพระพุทธเจ้า เป็นต้น สุดท้ายผมสรุปให้ย่าฟังว่า หลวงปู่มั่นท่านเป็นคนฉลาดมาก ถ้าเป็นคนอื่นคงติดนิมิตเตลิดเปิดเปิงไปแล้ว แต่หลวงปู่มั่นท่านเป็นคนฉลาด ท่านมาเอะใจว่ามันไม่น่าจะถูก เพราะพอออกจากสมาธิมากระทบกับอารมณ์ภายนอก จิตใจกลับไม่มีความมั่นคงเอาเสียเลย หลวงปู่มั่นท่านบอกว่าอย่างนี้มันผิด แล้วทำไมย่าถึงพยายามที่จะทำให้ได้สิ่งที่ หลวงปู่ท่านบอกว่ามันผิด มันเป็นการส่งจิตออกนอก ซึ่งผิดหลักของการภาวนา

แล้วผมก็เปิดเพลงต่อฟังไป "ท่านทำใจ ไม่รอช้า ย้อนจิตเข้ามาพิจารณาในเรือนกาย ส่วนบน ส่วนกลาง โดยรอบ หน้าหลังและส่วนปลาย โดยมีสติติดไป ช่วยรักษา เดินจงกรมไปมา มากกว่าอิริยาบถอื่นใด ๆ แม้นั่งภาวนาไป เน้นเรือนกายเป็นอารมณ์ ..." ช่วงนี้เป็นช่วงที่หลวงปู่มั่นท่านเริ่มย้อนจิตเข้ามาพิจารณาในเรือนกาย จากข้างบนถึงข้างล่าง จากข้างซ้ายถึงข้างขวา จากข้างหน้าถึงข้างหลัง โดยมีสติติดไปช่วยรักษา ผมก็อธิบายเพิ่มเติมว่า ย่าเห็นหรือเปล่าว่าหลวงปู่มั่นท่านไม่ได้ส่งจิตออกนอกไปในนิมิตเหมือนก่อน และท่านก็ไม่ปล่อยให้จิตคิดนู่นคิดนี่ฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น ๆ ท่านพยายามให้จิตมันอยู่เฉพาะในกายเท่านั้น ซึ่งสาระสำคัญก็คือ คำว่า "โดยมีสติติดไป ช่วยรักษา" ก็คือไม่ปล่อยให้ใจเหม่อหรือเผลอเรอแต่อย่างใด โดยเน้นเดินจงกรม เพื่อบังคับให้จิตอยู่ในกายเท่านั้น ตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน แล้วท่านก็ได้รับความสงบร่มเย็นด้วยวิธีนี้ ท่านจึงเริ่มแน่ใจว่าอุบายนี้เป็นทางที่ถูกต้อง แล้วท่านก็ใช้แนวทางนี้เป็นแนวทางในการพิจารณาต่อไป เพราะฉะนั้นถ้าย่าอยากภาวนาก้าวหน้าต้องทำเหมือนท่าน คือมีสติอยู่กับกาย กับใจ ตลอดเวลา ไม่ใช่จะไปนั่งหลับตาทำสมาธิมั่วไปเรื่อย โดยที่ไม่รู้ว่าทำไปทำไม

"... ได้ผลอันน่าชม ชื่นใจ จิตสงบลงเร็วไว อย่างง่ายดายผิดธรรมดา รู้ทันทีเลยว่าที่ทำมานี้ถูกทาง เมื่อจิตมันคงรวมลงไป ไม่เลื่อนไหล เร่ร่อนไปในที่ต่าง ๆ ท่านจึงแน่ใจ และถืออุบายนี้เป็นแนวทาง ไว้วางอย่างมั่นคง ไม่สงสัย ยึดเป็นอุบายที่ใช้นำ ดำเนินมา ไม่อาภัพนับว่าสมาธิเริ่มแน่นอน...."

แล้วท่านก็เริ่มออกธุดงค์และมีความมุ่งมั่นในการภาวนามาก ไม่ว่าท่านจะไปอยู่ที่ไหนท่านภาวนาไม่ลดละ และมีประโยคสำคัญอีกประโยคตรงนี้ก็คือ "ใจเป็นแกนสติตั้งคอยติดตาม" ผมก็หยุดเพลงแล้วเน้นให้ย่าฟังว่า นี่คือประโยคสำคัญที่ควรเอาใจใส่ คือให้มีสติอยู่กับใจ ตลอด นี่แหละคือการภาวนาของแท้ ไม่ใช่ไปนั่งหลับตาแล้วตัวเล็กตัวใหญ่ วูบ ๆ วาบ ๆ ตัวเบา ตัวหนัก หรือตัวลอยแต่อย่างใด

แล้วก็เปิดฟังอีกต่อไป... "พระอาจารย์มั่น แม้ท่านจะอยู่ที่ไหน ป่าหรือแหล่งแห่งหนใด เทิดธรรมวินัยนั้นอยู่เหนือเศียร มุ่งธรรมดำเนินมิเคยเหินห่างความเพียร ทุกข์โศกโรคร้ายใดมาเบียดเบียน สู้เพียรทรหดอดทน จะเคลื่อนจะไหว ใด ๆ ไม่เหม่อ สติกับใจไม่เผลอเรอ เหม่อลอยสับสน แม้กวาดลานวัด บิณฑบาต ขัดกระโถน ทำความรู้สึกในตน ไม่มีให้คลี่คลาย" พอถึงตรงนี้ผมก็หยุดเพลงไว้ แล้วเปิดซ้ำให้ย่าฟังอีกรอบ และเน้นคำว่า "จะเคลื่อนจะไหว ใด ๆ ไม่เหม่อ สติกับใจไม่เผลอเรอ เหม่อลอยสับสน แม้กวาดลานวัด บิณฑบาต ขัดกระโถน ทำความรู้สึกในตน ไม่มีให้คลี่คลาย" ตรงนี้ผมไม่ต้องอธิบายมากแล้ว เพียงแต่เน้นให้ย่าฟังให้ดี ๆ เอาใจใส่กับประโยคนี้ให้มาก ๆ แล้วผมก็บอกย่าว่า เห็นไหมว่าหลวงปู่มั่นท่านทำอย่างไร ท่านมีสติอยู่ตลอดทั้งวัน ไม่ว่าท่านจะทำอะไร แล้วผมถามย่าว่าทำได้หรือเปล่า สำหรับย่า ไม่ได้กวาดลานวัด ไม่ได้บิณฑบาต ไม่ได้ขัดกระโถน แต่ย่าทำกับข้าว หุงข้าว กวาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ ย่าก็สามารถทำความรู้สึกในตนได้ ย่าจะเคลื่อนจะไหว ก็อย่าให้เหม่อ สติกับใจต้องไม่เผลอเรอ ไม่เหม่อลอย ของพวกนี้ย่าทำได้ มาถึงตอนนี้ย่าเริ่มเงียบฟังไม่พูดอะไร ผมก็เปิดเพลงต่อ "หลับแล้วตื่น ดึกดื่นรีบมา ลุกขึ้นล้างหน้า ล้างตาเร็วไว..."

เรื่องราวต่อมาเป็นเรื่องการเดินธุดงค์ของท่านที่ไปเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ บางตอนออกแนวอภินิหาร ซึ่งคนส่วนใหญ่ฟังแล้วจะชอบตรงนี้ จิตใจจะสนใจตรงนี้เป็นพิเศษ ซึ่งแบ่งคนออกได้สองกลุ่มใหญ่ ๆ พวกแรกเป็นพวกที่ศรัทธาในหลวงปู่ และเชื่อในเรื่องอภิญญา ก็จะเชื่อและมีความตื่นเต้น สนุกสนาน ทึ่งในสิ่งที่ท่านทำได้ ส่วนคนที่ไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ หรือเฉย ๆ กับหลวงปู่มั่น ก็วิจารณ์ในแง่มุมที่ว่า เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เป็นความจริงหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ สำหรับผมเรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่ฟังไว้ประดับความรู้ ขึ้นอยู่กับบารมีของใครของมัน จะจริงจะเท็จก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลเท่านั้น เพราะประเด็นสำคัญของเนื้อธรรมไม่ได้อยู่ตรงนี้ แต่เป็นเรื่องของสติ เรื่องของทุกข์ และการพ้นทุกข์ เท่านั้นเอง

แล้วก็นั่งฟังต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงตอนพระอรหันต์มาสอนธรรมะหลวงปู่มั่นในสมาธินิมิต เหมือนอย่างที่เคยกล่าวมาแล้วผมไม่ไม่มานั่งถกเถียงกับคนอื่นให้เหนื่อยหรอกว่า พระอรหันต์ท่านมาจริงหรือไม่จริง ผมสนใจแค่เนื้อธรรมเท่านั้น ซึ่งผมว่าเป็นความจริงและเป็นประโยชน์เสียยิ่งกว่าสิ่งใด เนื้อหาที่สำคัญที่ผมเน้นให้ย่าฟังก็คือ "...ตั้งแต่เดินจงกรม เหมาะสมนั้นทำยังไง การเคลื่อนไหวใด ๆ ต้องมีสติตั้งประคอง การบิณฑบาต ขบฉัน และขับถ่าย การพูดจาปราศรัยใส่ใจปอง ควรมองและตรองให้ถ้วนถี่ อันถือเป็นอริยะประเพณี เคลื่อนไหวไปมาทิศทางใดก็ดี ต้องมีสติตามแทรกแทรงทุกแห่งหน" ผมหยุดเพลงไว้ตรงนี้เพื่ออธิบายต่อ คราวนี้ไม่ต้องอธิบายมากแล้ว เพราะท่านเริ่มเข้าใจ แล้วย่าก็พูดออกมาว่า นี่ขนาดตอนกิน ตอนเข้าส้วมก็ต้องมีสติหรือเนี่ย ผมก็บอกว่าใช่แล้ว เห็นไหมว่าหลวงปู่มั่นท่านทำยังไง ท่านมีสติ ตลอดเวลา ไม่เผลอไม่พลาดแม้แต่นิดเดียว

แล้วผมก็เปิดต่อจนถึงตอน "...การบำรุงรักษาใด ๆ ในโลกนั่น เยี่ยมยอดอนันต์ คือการรักษาใจตน ให้สูงจนพ้นภัย รู้ธรรมเห็นธรรมที่งามเชิดชูคือรู้ใจ มรรคผลนิพพานอำไพเกิดขึ้นที่ใจจงใฝ่ตรอง" ถึงตรงนี้ผมก็หยุดไว้ให้ย่าใคร่ครวญดูอีกทีว่า การรู้ธรรมนั้นจริง ๆ แล้วก็คือการรู้ใจของตนนั่นเอง ไม่ใช่การไปรู้เห็นสวรรค์นรก อนาคต อดีต กรรม หรือแม้กระทั่งใจของคนอื่น แล้วก็เปิดต่อตอนสุดท้ายของเพลง "...นี่คือธรรมที่สมควรยกย่อง อันวิไลใสผ่องขององค์พระศาสดา อันหาใดเทียมค่า มีหรือจะคู่ควร จงคิดใคร่ครวญ ทบทวนอยู่ทุกเวลา นี่คือธรรมที่สำคัญล้ำค่า จงพิจารณาธรรมที่ฝากเอาไว้ อีกในไม่ช้ากิเลสที่มาเผาไหม้ บอกให้ท่านมั่นใจจะหมดสิ้นไปอีกไม่นาน" แล้วผมก็กล่าวย้ำเพื่อให้ย่าตระหนักอีกรอบว่า นี่คือธรรมอันเยี่ยมยอดของพระพุทธเจ้า ธรรมอันเยี่ยมยอดของพระพุทธเจ้าอยู่ตรงมีสติ โดยเฉพาะ สัมมาสตินี่เอง ไม่ใช่อย่างอื่นเลย คนเกือบทั้งโลกขาดสติ (สัมมาสติ) ทั้งวัน ส่วนใหญ่มีแต่หลงไปข้างนอก ส่งจิตไปอยู่ในโลกของความคิด ส่งจิตไปดู ส่งจิตไปฟัง เป็นต้น ไม่เคยมีสติ กลับมาดูที่รูปนาม หรือ กายใจ ของตนเองเลย หลวงปู่มั่นท่านทำถูกทาง ท่านย้อนจิตเข้ามาพิจารณาในกายในใจของตน จนสุดท้ายท่านก็บรรลุมรรคผลนิพพาน ซึ่งมรรคผลนิพพานก็เกิดขึ้นที่ใจของท่านนั่นเองไม่ได้ไปเกิดที่อื่นเลย และการได้นิพพานก็คือการพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง ความทุกข์ไม่สามารถเข้าไปเกาะจิตใจได้อีกตลอดกาล ไม่ว่ากรณีใด ๆ เพียงแค่นั้นเอง

หลังจากนั้นก็พาย่าเปิดข้ามไปยังเพลง "พุทโธหาย" เพราะย่าสงสัยว่าทำไมผมมาให้ย่า เจริญสติตามดูรูปนามกายใจ แต่หลวงปู่มั่นท่านสอนให้ชาวเขาท่องพุทโธ ผมก็อธิบายเบื้องต้นก่อนว่า การท่องพุทโธนั้น ย่าจะท่องก็ได้แต่ต้องรู้ก่อนว่าจะท่องทำไม การท่องพุทโธนั้นสามารถทำเป็นได้ทั้ง สมถะ และ วิปัสสนา การท่องเป็นสมถะ หมายถึงให้จิตอยู่กับพุทโธอย่างเดียว จนกระทั่งจิตหดตัวเข้ามาไม่แส่ส่ายไปทางอื่น เหลือแต่พุทโธอย่างเดียว จิตก็จะรวมลงเป็นสมถะ เข้าสู่ความสงบ ส่วนการท่องเป็นวิปัสสนานั้นเปรียบเสมือนการเอาพุทโธมาเป็นเหยื่อล่อจิต เราก็ท่องพุทโธไปเรื่อย ๆ พอจิตส่งไปข้างนอก ก็รู้ว่าส่งไปข้างนอก จิตแว็บออกไปคิดก็รู้ว่าจิตแว็บออกไปคิด แล้วก็กลับมาท่องพุทโธใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเราก็จะเข้าใจการทำงานของจิต ในขณะที่จิตส่งไปข้างนอก แล้วเรารู้ว่าจิตส่งไปข้างนอก ขณะนั้นเองที่เรียกว่าสติ

หลวงปู่มั่นท่านฉลาดมากนะ ย่าคิดดูสิการจะสอนชาวเขาซึ่งไม่รู้หนังสือให้เจริญสติ ให้เข้าใจการภาวนานั้นยากแค่ไหน ท่านก็เลยใช้อุบายบอกชาวบ้านว่าพุทโธท่านหาย แล้วให้ชาวบ้านมาช่วยตามหา ชาวบ้านเขาก็ช่วยกันตามหาอย่างเอาจริงเอาจังจนได้รับความสงบร่มเย็นไปตามลำดับ ดังเนื้อเพลงที่ร้องไว้ว่า "...คนหนึ่งถามว่าทำไมหลับตานิ่ง บางทีเดินมาเดินไป ทั้งนั่งและเดินไปมา ตุ๊เจ้าค้นหาอะไร ท่านก็พูดตอบทันใด พุทโธเราหายนั่นนะซิ เรานั่งเดินตามหาพุทโธ พุทโธ ของเราอยู่นี่ ยังไม่พบเจอสักทีไม่รู้หลบลี้ไปหนใด เขาถามว่าตัวพุทโธที่ว่า หน้าตาเป็นไฉน เราช่วยตุ๊เจ้าหาได้ไหม ท่านบอกว่าได้ ไม่มีปัญหา พุทโธที่ว่านี้เป็นดวงแก้วงามล้ำค่า ประเสริฐเลิศในโลกาฉลาดรอบรู้เหนือใด..." แล้วท่านก็สอนให้ชาวบ้านหัดตามหาพุทโธ โดยให้นึกพุทโธ อยู่ในใจ ซึ่งก็คือการบริกรรม นั่นเอง และสุดท้ายก็มีชาวบ้านคนหนึ่งเขาหาพุทโธเจอ แล้วเขาก็มาบอกหลวงปู่มั่นว่า ท่านเป็นคนที่ฉลาดและเมตตามาก เพราะจริง ๆ แล้ว พุทโธก็คือ ความสว่างที่เกิดขึ้นกับใจ นั่นเอง ไม่ใช่อะไรที่ต้องไปเดินหานั่งหาแต่อย่างใด

ส่วนเนื้อเพลงอื่น ๆ นั้นผมก็พาฟังไปเรื่อย ๆ ไม่ค่อยได้อธิบายอะไรมากเพราะเริ่มดึกมากแล้ว และก็คิดว่าย่าคงเข้าใจประเด็นสำคัญแล้ว อย่างอื่นเป็นเพียงความรู้ที่เป็นส่วนประกอบเท่านั้น

เพลงประวัติหลวงปู่มั่น และอื่น ๆ ที่อ้างอิง สามารถ Download ได้ที่เว็บไซต์ของ วัดป่าภูผาสูง