Friday, January 27, 2006

เคล็ดวิชาไร้กระบี่ไร้ใจ (ครั้งที่ ๖)

เข้ามาสัมมนาเกี่ยวกับจาวาที่บางกอก ก็เลยถือโอกาสลาวันนี้ พาเพื่อน ๆ ไปกราบอาจารย์ที่ จังหวัดกาญจนบุรี ไปกันทั้งหมด ๘ คน ขณะที่ไปถึงอาจารย์กำลังสอนช่วงแรกอยู่พอดี ท่านอาจารย์ทักทายนิดหน่อย ถามว่ามากันกี่คน เสร็จแล้วท่านก็มารับประเคนอาหาร ให้พรแล้วท่านก็เริ่มฉันอาหาร ส่วนพวกเราก็แยกย้ายกันไปกินข้าวตามธรรมเนียมปฏิบัติของที่นี่

หลังจากกินอิ่มกันแล้วก็เข้ามานั่งฟังเทศน์กันอีกรอบ คราวนี้อาจารย์เริ่มสอน เนื้อหาส่วนใหญ่ก็คล้าย ๆ กับที่เคยฟังมา ท่านอาจารย์อธิบายว่า ที่ท่านนั่งพูด แล้วเรานั่งฟังอยู่เนี่ยเป็นธรรมของปลอม ธรรมของจริงต้องปฏิบัติเอาเองเท่านั้น และที่ท่านพูด ๆ อยู่ก็พูดเป็นเพื่อนไปเท่านั้น ท่านพยายามให้เราเรียนรู้ด้วยตนเองว่า สภาวะต่าง ๆ ของจิตนั้นเป็นยังไง หลงเป็นยังไง รู้สึกตัวมีสติ เป็นยังไง ถ้าใครเป็นแล้ว แม้จะอยู่บ้านก็ภาวนาได้ ไม่จำเป็นต้องมาวัด

วันนี้ให้น้องชายนั่งหน้าสุด เผื่อว่าเขาจะมีคำถามอะไรถามท่านอาจารย์ ปรากฏว่าวันนี้ไม่ถามอะไรเลย และอาจารย์ก็ไม่ทักเหมือนคราวที่แล้ว แสดงว่าภาวนาใช้ได้ ส่วนเพื่อนคนอื่น ๆ ก็โดนกันไปตามระเบียบ บางคนโดนบ่อยหน่อย แต่บางคนไม่โดนเลยเพราะ ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย ส่วนเรานั้นจิตมันพยายามจะมีสติเพราะว่านั่งอยู่ต่อหน้าท่าน มันก็เลยไม่เป็นธรรมชาติเท่าไหร่

มีเพื่อนคนนึงเผลอบ่อย ท่านอาจารย์ก็เลยทักบ่อย แล้วท่านอาจารย์ก็เลยถามว่า "เคยฝึกมาจากที่ไหนหรือเปล่า" เค้าก็เลยตอบว่า "เพื่อนสอนมาครับ" อาจารย์ท่านก็เลยบอกว่า "อืม เพื่อนสอนมาดีนะ" เราก็แอบภูมิใจเล็กน้อย (มากไม่ได้เดี๋ยเหลิง)

ก่อนกลับเข้าไปกราบท่านอีกที ท่านก็บอกเราว่า "เรายังประคองอยู่นิดนึงนะ ปกติอยู่ที่บ้านเป็นแบบนี้หรือเปล่า" ก็ตอบท่านไปว่า "ไม่ครับ อยู่ต่อหน้าอาจารย์มันก็เลยเป็นแบบนี้" แล้วท่านก็บอกว่า "ก็ดีแล้วหละ ทีมนี้ภาวนาใช้ได้หลายคนนะ" แล้วก็พากันลากลับเพื่อไปซื้อของที่กรุงเทพฯ

ย้อนกลับไปขณะที่ท่านกำลังสอนอยู่ มีพี่คนนึงสนทนากับท่านว่า ชอบวิธีการภาวนาของอาจารย์มาก เพราะสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเดินจงกรม นั่งล้างจาน ขับรถ ทำสวน ฯ พี่เขาบอกว่าไม่เหมือนที่อื่นที่เน้น ทองพองยุบ ลมหายใน พุทโธ แต่ที่อาจารย์สอนเนี่ยสุดยอด เพราะเหมือนกับเคล็ดวิชา "กระบี่อยู่ที่ใจ" ไม่ว่าจะหยิบจับอะไรเป็นอาวุธในการภาวนาได้หมด

ท่านอาจารย์ก็เลยเล่าให้ฟังว่าเคยมีคนมาชมอาจารย์เหมือนกันว่าเคล็ดวิชาในการภาวนาของอาจารย์เนี่ยเป็นเคล็ดวิชา "กระบี่อยู่ที่ใจ" ท่านอาจารย์ก็เลยตอบว่า ยังประเมินท่านต่ำไปหนึ่งขั้น (ท่านเล่าด้วยบรรยากาศสนุกสนานเหมือนเล่าหนังจีนกำลังภายใน มิได้เป็นลักษณะโอ้อวดแต่อย่างใด) เพราะจริง ๆ แล้วเคล็ดวิชาของท่านคือ "ไร้กระบี่ไร้ใจ" เพราะถ้ายังมีกระบี่ หรือยังมีใจอยู่เมื่อนั้นก็จะยังมีทุกข์อยู่.... เพราะฉะนั้นสุดยอดวิชาต้อง "ไร้กระบี่ไร้ใจ"