Friday, November 24, 2006

ความก้าวหน้าในการภาวนา

ช่วงนี้ที่บริษัทมีคนรอบ ๆ ตัวสนใจธรรมะเยอะขึ้น ถ้าคนไหนพอที่จะแนะนำได้ผมก็แนะนำไปตามกำลัง ส่วนคนไหนที่แนะนำแล้วไปไม่ไหวก็ถอย ไม่มีอะไรมาก เพราะเราต้องเข้าใจว่า ธรรมะ เป็นเรื่องของ "ตัวใครตัวมัน" ไม่เช่นนั้นเราจะทุกข์ เพราะคิดว่าตัวเองมีธรรมะแล้วอยากจะให้คนอื่นเขามีเขาได้เหมือนตัวเอง ผมต้องใช้เวลาเป็นปีเหมือนกันกว่าจะผ่านจุดที่สอนคนอื่นโดยตัวเองไม่ทุกข์

ช่วงนี้ต้องพาพี่อ้วนขึ้นไปที่ วัดป่าภูผาสูง ทุกสัปดาห์ ดู ๆ แล้วไฟกำลังแรงก็เลยช่วยส่งเสริมซะหน่อยเผื่อจะได้ดีในทางพระพุทธศาสนา

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาดูเหมือนว่า จิตใจจะเต็ม ๆ ขึ้นมา มีความสดชื่น กระปี้กระเปร่า สดใส มีกำลังและความคมขึ้นมาพอสมควร เวลาสัญญาอารมณ์ กระทบจิต สติจะรู้สึกตัวได้ค่อนข้างไว และมีความคมพอสมควร เพราะเวลากระทบแล้วสติเกิด มันตัดปั๊บหายไปเลย เกิดปุ๊บตัดปั๊บ เิกิดปุ๊บตัดปั๊บ เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อย ๆ (ไม่ได้เป็นทั้งวัน) แต่เป็นบ่อยกว่าแต่ก่อน พอสมควร

สิ่งที่เห็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความกลัว ไม่ว่าจะเป็นความกลัวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน กลัวทำงานไม่เสร็จตามกำหนด กลัวขึ้นรถไม่ทัน กลัวต่าง ๆ นา ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิต รู้สึกว่า พอกลัวขึ้นมา สติจะมาไว พอความกลัวเกิดขึ้น สติก็จะตามมาติด ๆ แล้วก็ตัดกันดับไปเลย แม้กระทั่งตอนที่อยู่ในวัดเกิดกลัวผี ก็เกิดความกลัวเป็นห้วง ๆ แต่ไม่ใหญ่ พอเกิดมาก็ดับไป ช่วงนี้เห็นตรงนี้ได้ชัดพอสมควร นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่จิตใจดูเบา ๆ สบาย ๆ สดชื่น เพราะไอ้ความกลัวต่าง ๆ เหล่านี้แหละเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ของคนส่วนใหญ่

อีกอย่างก็คือเริ่มเห็นความเป็นตัวเราชัดขึ้น โดยที่แต่ก่อนไม่เคยมองเห็นความเป็นตัวเราอย่างนี้เลย ความรู้สึกที่มองเข้ามาแล้วเห็นว่านี่เป็นตัวเรา มันอยู่ข้างในนี้ ดูเข้ามาทีไรก็เห็นมันทุกที เหมือน ๆ กับมันยืนยงคงกระพันยังไงยังงั้น ความเป็นตัวเราเนี่ยแต่ก่อนไม่เคยเห็นเพราะเหมือนมันสิงสถิตอยู่กับเรามานานมั่วซั่วปนกันไปหมด สติไม่คมพอที่จะเห็นไอ้ตัวความรู้สึกว่าเป็นตัวเราตัวนี้ ตอนนี้เห็นแล้วแต่ยังไม่มีปัญญาทำอะไรกับมัน

เท่าที่ทราบมาถ้าเราเห็นความเป็นตัวเรา เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เห็นแบบนี้ไม่นานจิตก็จะละสักกายะทิฏฐิได้ แต่ผมยังไม่เคยเห็นมันดับเลยซักที เห็นแต่มันอยู่อย่างนี้ของมัน ก็คงต้องตั้งหน้าตั้งตาภาวนาต่อไป ให้สติปัญญาเฉียบคมยิ่งกว่านี้ คงเห็นมันได้ซักวันแหละน่า

ช่วงนี้ฟังเพลงประวัติหลวงปู่มั่น (ฟังอยู่ทั้งปีทั้งชาติไม่เคยเบื่อ) รู้สึกชอบใจเพลง "เข้าสู่สนามรบ" เป็นอย่างมาก ท่อนที่ชอบที่สุดคือ

มุ่งหวังตั้งใจแน่นอน
ไม่มีวันสั่นคลอน อ่อนแอแปรผัน
ต้องประจักษ์ในมรรคผล พระนิพพาน
อันกิเลสาสะวะมาระราน
ขอตามห้ำหั่นหาญกล้าราวี
ให้หมดใจเยื่อใยไม่มี
ชาติและภพจบกันเสียที
หมู่มารมาราวีขอพลีชีพสู้


ตอนนี้กำลังใจในการภาวนาค่อนข้างเด็ดเดี่ยว ห้าวหาญมาก

Monday, June 12, 2006

อินทรีย์ยังอ่อน (ครั้งที่ ๘)

วันนี้เดินทางมาที่จังหวัดชลบุรีเพื่อกราบท่านอาจารย์ ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองที่มาที่นี่นับตั้งแต่ท่านอาจารย์ย้ายมาอยู่ที่ชลบุรี ครั้งแรกเป็นงานเปิดสวนสันติธรรม แห่งนี้ ครั้งนั้นไม่ได้สนทนากับท่านพระอาจารย์เพราะคนเยอะมาก ๆ

เดินทางมาถึงจังหวัดชลบุรีตั้งแต่เมื่อวานตอนเย็น แวะเข้าไปชวนอรรณพ กับ จู๊ด ทั้งสองต้องทำงานก็เลยไม่ว่าง นั่งคุยกับจู๊ดทำให้ทราบว่าจู๊ดไปกราบท่านอาจารย์ทุกวันอาทิตย์ ดูแล้วตั้งอกตั้งใจอยากที่จะปฏิบัติมาก แต่ยังเริ่มต้นไม่เป็น คิดว่าไม่นานคงเริ่มได้ และคงได้ดีด้วย

ตื่นเช้าไปซื้อของที่ตลาด อำเภอศรีราชา มีหลนเต้าเจี้ยวด้วยก็เลยซื้อไปถวายท่านอาจารย์ (สุดท้ายเราก็ได้กินด้วย) เดินทางไปถึงวัดประมาณ ๐๖.๓๐ น.

จัดอาหารเสร็จก็เอาขึ้นไปตั้งไว้เพื่อรอประเคน แล้วก็ไปนั่งรอท่านอาจารย์มาเทศน์รอบแรก โดยวันนี้ตั้งใจนั่งหน้าสุด ช่วงที่นั่งรอก็พิจารณาดูสถานที่รอบ ๆ ห้องโถงไปเล่น ๆ สถานที่ใหม่แห่งนี้กว้างกว่าที่เดิมพอสมควรดูระบบเครื่องเสียงต่าง ๆ ก็ดีขึ้น พระประธานองใหญ่กว่าที่เดิม แต่ผมว่าองค์ที่ตั้งอยู่ที่เดิมเค้าทำพระพุทธรูปยิ้มได้สวยกว่า และที่ใหม่นี้ที่ที่ท่านอาจารย์นั่ง ก็ทำเป็นแท่นสูงขึ้นไป ผมว่าทำสูงไปหน่อยทำให้เหมือนห่างไกลไม่ใกล้ชิดกันเหมือนที่เดิม หลังจากนั่งฟุ้งซ่านไปเรื่อย ๆ ไม่นานท่านอาจารย์ก็เดินเข้ามา วันนี้ท่านพึ่งปลงผมเสร็จใหม่ ๆ ดูท่านหน้าตาสดใสมาก ดู ๆ ไปท่านอาจารย์ยิ้มเหมือนพระพุทธรูปเลย ถ้าเรายิ้มได้แบบนี้บ้างคงดี พออาจารย์ท่านนั่งลง ก็หันมาหาเราคนแรกเลย

"มาจากโคราชเลยเหรอ" ประโยคแรกที่ท่านพูดในวันนี้
ก็ตอบท่านว่า "ครับ"
"เป็นยังไงบ้างภาวนา"
"ช่วงนี้เหมือนไม่ค่อยได้ทำอะไรครับ"
"เราต้องทำนะ ต้องปฏิบัติตามรูปแบบ เพราะอินทรีย์ของเรายังอ่อนอยู่ ไม่ทำตามรูปแบบเลยไม่ได้นะ"
"ครับ"
"เคยทำอะไรก็ทำไป ทำแบบที่ครูบาอาจารย์วัดป่าท่านสอนมานั่นแหละ จะท่องพุทโธ หรือกำหนดลมหายใจก็ได้ แล้วคอยมีสติไว้ จะเดินจรงกรมด้วยก็ได้"
"ครับ"
แล้วท่านก็อธิบายวิธีเจริญสติตามรูปแบบ ไปเรื่อย ๆ คล้าย ๆ กับทุกครั้งที่ท่านสอนจนจบ

ิอินทรีย์ยังอ่อน คำนี้ประทับลงไปในใจของเรามาก เพราะที่ผ่านมาผมก็เจริญสติมาเรื่อย ๆ ความรู้สึกตัวในแต่ละวันมีบ่อย แต่เหมือนกับมันไม่เฉียบ ไม่คม ตัดอารมณ์แบบปวกเปียกไม่มีกำลัง แถมช่วงหลังยังเกิดอาการปล่อยตามกิเลสเยอะ มันอยากทำอะไรก็ให้มันทำ แค่รู้เท่าทันมันก็พอ มันคิดมันทำไปแบบนั้น นี่มันเป็นอาการของคนหลงตัวเอง มันก็เลยเข้ารกเข้าพงไปแบบไม่รู้ตัว นี่ถ้าวันนี้ไม่ได้มาหาท่านอาจารย์คงเตลิดเปิดเปิงไปไกล

การภาวนานั้นยังไง ๆ ก็ต้องบังคับ กาย กับ วาจา คือจะเป็นประเภทมาเหนือเมฆกูเก่งไม่ต้องบังคับกาย ไม่ต้องบังคับวาจา แค่ให้รู้ทันตัวเองด้วยใจที่เป็นกลาง เดี๋ยวมันจะค่อย ๆ เข้าสู่ความเป็นกลางเอง แบบนี้จะไปไม่รอดกิเลสดึงลงข้างล่างหมดไม่ได้กินมันหรอกต้องแบบบังคับนี่แหละ หลังจากบังคับแล้วก็รู้ว่าบังคับ พยายามรู้ด้วยใจที่เป็นกลางแล้วมันจะค่อย ๆ เข้าสู่ความเป็นกลาง แบบนี้มันถึงจะไปรอด เข้าสู่ความเป็นกลางได้จริง ๆ เพราะเรารู้ว่าสุดท้ายแล้วผู้ที่บรรลุอรหันต์นั้น ท่านจะไม่ทำผิดทางกายวาจา เราก็ทำแบบที่ท่านทำไปเลยแต่ก็ต้องทำแบบบังคับเพราะจิตของเรายังไม่บริสุทธิ์ จริง ๆ แล้วก็ปฏิบัติตัวเจริญสติไปเรื่อย ๆ รู้รูปนามตามความเป็นจริง (ว่ามันบังคับ) สุดท้ายให้มันเข้าสู่ความเป็นธรรมชาติทางนี้

กลับไปบ้านคราวนี้คงจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการภาวนากันยกเครื่องใหม่ทั้งหมด คือรู้สึกตัวระหว่างวันก็รู้ไป แต่ต้องเพิ่มการบังคับกายวาจา แล้วให้รู้ว่าบังคับเอา ส่วนรูปแบบก็ต้องใส่เข้าไป ทำสมถะ เดินจงกรม ก็ต้องทำ

ในช่วงที่สอง ท่านอาจารย์เล่าเรื่องขอทานหน้าวัดเชตวันให้ฟัง อันนี้ก็สะดุดเหมือนกัน เรื่องมีอยู่ว่า มีขอทานซึ่งมานั่งขอทานอยู่หน้าวัดเชตวันเป็นประจำคนนึง พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ขอทานคนนี้หากได้ฟังธรรมของท่านตอนเป็นหนุ่มจะสามารถบรรละอรหันต์ได้ ถ้าได้ฟังตอนวัยกลางคนจะได้บรรลุพระอนาคามี แต่ตอนนี้สายไปแล้ว ร่างกายธาตุขันธุ์ไม่เอื้ออำนวยเสียแล้ว ฟังธรรมไปก็หมดโอกาสบรรลุธรรมเสียแล้ว เรื่องนี้เป็นคติเตือนใจว่า การภาวนาไม่ใช่ว่าจะทำตอนไหนก็ได้ อายุนั้นมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ยิ่งอายุมากเท่าไหร่โอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นยิ่งน้อยลงไปทุกที

เพราะฉะนั้นอย่าพากันชล่าใจ พระอาจารย์ปราโมทย์ท่านก็กล่าวปิดท้ายหลังจากเล่าเรื่องนี้ให้ฟังว่า อย่าพากันคิดว่าจะเข้าวัดตอนแก่ ตอนแก่มันต้องเข้าโลง เข้าวัดตอนแก่มันจะไปได้อะไรมาก ต้องทำตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว แก่แล้วมันปฏิบัติลำบาก

ก่อนกลับก็เลยเอาหนังสือที่เตรียมมาไปถวายท่านอาจารย์ ก็มีหนังสือประวัติหลวงปู่ศรี หนังสือประวัติหลวงปู่เจี๊ยะ หนังสือประวัติหลวงปู่สุวัจน์ และหนังสือพ่อแม่ครูอาจารย์ที่ได้มาจากวัดป่าภูผาสูง เสร็จแล้วก็กราบท่านอาจารย์เดินทางกลับ ขณะขับรถกลับรู้สึกว่ามาเที่ยวนี้กำลังใจเต็มกลับไปจริง ๆ

เต็มด้วยความปิติ เต็มด้วยกำลังที่จะภาวนา ถ้าใจเป็นได้แบบนี้บ่อย ๆ คงไปได้ไกล เพราะเป็นจิตใจที่เต็มไปด้วยกำลังใจที่จะภาวนา ไม่ใช่ความต้องการภาวนาด้วยความอยากหรือด้วยการบังคับ

ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ท่านอาจารย์ช่วยเหลือเรานับตั้งแต่ครั้งแรกที่เปิดหูเปิดตาให้เรามาเห็นธรรมะตัวจริงของจริง ถ้าไม่ได้ท่านอาจารย์เราคงแย่ คงแย่จริง ๆ

Sunday, May 07, 2006

เปิดสวนสันติธรรม (ครั้งที่ ๗)

ออกเดินทางจากโคราชตั้งแต่เช้าวันที่ ๖ พฤษพาคม ๒๕๔๙ พร้อมด้วยสมาชิกอีก ๓ คน คือ อ๊อด เอ้ และปุ๋ม แล้วเข้าไปรับพี่อ้อยแถว ๆ ดรีมเวิลด์ คลอง ๔

พึ่งรู้ว่า บ้านพี่อ้อยติดกับวงแหวนตะวันออก เลี้ยวนิดเดียวก็ขึ้นวงแหวน ไปถึงชลบุรีประมาณบ่ายโมง พาเพื่อน ๆ ไปกินข้าวที่ร้านมุมอร่อย ซึ่งเคยมา

ครั้งก่อนเมื่อหลายปีที่แล้ว คนยังเยอะเหมือนเดิม กินเสร็จก็เข้าไปบ้านเพื่อนสนิท โอ๋ กับ จู๊ด ที่นัดไว้

บ้านยังมีสภาพเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงมากนักแต่รกขึ้นกว่าเดิมเยอะ ตอนเย็นนั่งสอนธรรมะให้ อรรณพ กับ จู๊ด พูดแบบย่นย่อ ประมาณ ๒ ชั่วโมง

ก็จบ ดู ๆ แล้วอรรณพจะนิ่ง ๆ เหมือนปกติ ส่วนจู๊ดดูท่าทางสนใจเป็นพิเศษ

วันที่ ๗ พฤษพาคม ๒๕๔๙ ตื่นแต่เช้า รู้สึกตัวบ่อยเพราะใกล้วัดเต็มที เดินทางไปวัดด้วยกันทั้งหมด ๗ คน มี โอม อ๊อด พี่อ้อย ปุ๋ม เอ้ โอ๋ และ จู๊ด ระหว่างทาง

เปิดประวัติหลวงปู่มั่นให้ฟังกันด้วย

ไปถึงวัดคนมาเยอะมากแล้วไม่มีที่จอดรถ แถวยาวไปถึงหมู่บ้านต้องจอดรถไว้ข้างทางแล้วนั่งสองแถวที่เตรียมไว้เข้าไปในวัด จริง ๆ ไม่รู้จะเรียกว่าวัดดีหรือเปล่า เป็นเหมือนสำนักสอนปฏิบัติธรรมมากกว่า ชื่อจริง ๆ ก็คือ สวนสัติธรรม อาคารและสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นสีขาว ล้อมรอบด้วภูเขาดูสวยงามน่าอยู่ทีเดียว แต่อยู่นาน ๆ อาจจะเบื่อได้สำหรับคนอย่างเรา

วันนี้ไม่ได้พบกับท่านอาจารย์เพราะคนเยอะมากจริง ๆ ก็ไม่เป็นไรเพราะคาดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าคนจะเยอะ คนเต็มศาลาด้านในจนต้องออกมานั่งข้างนอก อาหารที่เลี้ยงแขกวันนี้ค่อนข้างเยอะและอร่อยพอสมควร พอบ่ายโมงกว่า ๆ ก็เดินทางกลับ

เห็นสภาพแล้วแอบปลื้มใจที่เห็นคนไทยมีความสนใจธรรมะแท้ ๆ กันเยอะพอสมควร และอาจารย์ก็ดี ถ้าวงธรรมะแบบนี้แพร่หลายไปเรื่อย ๆ คงทำให้ประเทศชาติดีขึ้นอย่างแน่นอน

ระหว่างเดินทางดู ๆ ปุ๋มมีความสนใจและถามคำถามเหมือนกับที่คนหัดภาวนาใหม่ ๆ สงสัยกันทั่ว ๆ ไป และก็ถามคำถามอื่น ๆ บ้างตามความอยากรู้ ดู ๆ คงเริ่มภาวนาเป็นแล้วหละ

Saturday, March 25, 2006

คืนธาตุ ๔ ให้ธรรมชาติเขาไป

ขณะนั่งอ่านประวัติผู้ตายอยู่หน้าเมรุเผาศพวัดพรหมประทาน ผมต้องหยุดอ่านเป็นระยะ ๆ เพื่อหลบจากอารมณ์เศร้าที่กระทบกับจิตเข้าตรง ๆ ก่อนที่มันจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาเหมือนแขกผู้มีเกียรติหลาย ๆ คน ต้องยอมรับว่าเรื่องราวนั้นเศร้าจริง ๆ ขนาดผมมีสติ รู้สึกตัวเป็นระยะ พออ่านประวัติ และถ้อยคำรำพันของ พ่อ แม่ น้องสาว น้องชาย และคนรักของผู้ตาย ที่กล่าวคำไว้อาลัยแก่ผู้วายชนม์ จิตก็จะหลงเข้าไปอยู่ในเนื้อเรื่องประหนึ่งว่า ตัวเองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง จิตของเรานั้นยึดมั่นถือมั่นได้ง่ายถึงเพียงนี้ นับประสาอะไรกับคนที่ใกล้ชิดกับผู้ตายโดยตรง เรื่องราวที่ตีพิมพ์มาแจกในงานศพนั้นประหนึ่งละครที่นักประพันธ์เอกจรดปลายปากกาแต่งเรื่องราวไว้ แต่เสียดายที่ชีวิตจริง ๆ มันโหดร้าย ไม่จบแบบมีความสุขเหมือนละครทั่ว ๆ ไป

หลังจากผมอ่านจบไม่นานก็เริ่มพิธีกรรมต่าง ๆ แต่ดีหน่อยที่วัดนี้เป็นวัดป่า จึงตัดพิธีกรรมหลาย ๆ อย่างออกไป เช่นล้างหน้าศพ เป็นต้น ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะมันไม่จำเป็นเลย ล้างแล้วได้อะไร ไม่ล้างแล้วจะเป็นไร มันก็แค่ธาตุสี่ รอเข้าเตาเผาแค่นั้นเอง ก่อนจะเผาจริง ๆ มีพระรูปหนึ่งขึ้นธรรมมาสน์เพื่อเทศนาอบรมสั่งสอนญาติโยม ผมต้องยอมรับว่าพระองค์นี้ท่านกล้าหาญจริง ๆ ท่านเอาธรรมะแท้ ๆ มาสอน ซึ่งปกติวิสัยของสามัญชนจะรับไม่ค่อยได้ และดูเหมือนมันจะเดินสวนทางกันด้วยซ้ำ ผมนั่งฟังไปพลางหวั่น ๆ แทนหลวงพ่อว่าจะมีคนโมโหหลวงพ่อว่า ทำไมเทศน์อย่างนั้น ถึงแม้มันจะเป็นความจริงก็เถอะ

ธรรมะที่หลวงพ่อท่านเทศน์นั้นเริ่มด้วยพุทธพจน์เรื่องความตาย มนุษย์เรามีเกิดก็ต้องมีตายเป็นธรรมดา เขาตายไปแล้วพวกเราจะมานั่งร้องไห้ มันไม่มีประโยชน์ ต่อให้ร้องยังไงก็ไม่มีทางฟื้นขึ้นมาได้ ผมไม่รู้ว่าคนที่กำลังร้องไห้ฟังอยู่หรือเปล่า แล้วท่านก็เทศน์ต่อ ว่าเห็นคนที่ตายมั๊ย เขาเอาอะไรไปได้บ้าง ที่เรียนมาสูง ๆ จบวิศวะ ไปทำงาน ซื้อรถ ข้าวของเงินทองเครื่องใช้ พ่อ แม่ พี่ น้อง ฯลฯ ทุกอย่างไม่มีอะไรเอาไปได้เลย แม้กระทั่งตัวของเขาเองแท้ ๆ ยังเอาไปไม่ได้เลย สิ่งที่เอาไปได้จริง ๆ แล้วคือ บุญ และ บาป ที่ตัวเองทำไว้นั่นเอง แล้วความตายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะมาถึงเราเมื่อไหร่ พรุ่งนี้อาจจะถึงคิวไอ้ที่นั่ง ๆ อยู่ข้างหน้านี้ก็ได้ คนเราพอตายแล้วเป็นไง ตายแล้วไม่มีใครต้องการ ร่างกายก็กลายเป็นของหนัก เอาไว้บ้านนานก็ไม่ได้ ต้องรีบเอามาเผาทิ้งที่วัด ตัวร่างกายเองก็เน่าเหม็น ประกอบขึ้นด้วยธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเป็นของไปยืมเขามา ตอนนี้คนที่นอนอยู่ในโลงก็คืนเขาไปแล้วสองส่วนคือ ไฟ กับ ลม เหลือแต่ดินกับน้ำซึ่งเดี๋ยวซักพักก็เผาทิ้งหมดแล้ว ร่างกายของเราประกอบไปด้วยน้ำหนองน้ำเลือดเสลดน้ำลายมีแต่ของโสโครก พอเผาไปก็กลายเป็นควันลอยขึ้นไปในอากาศ สุดท้ายก็ไปรวมกับก้อนเมฆเป็นฝนตกลงมา เราก็เอาน้ำมาดื่ม แล้ววันหนึ่ง ๆ เผากันกี่ศพ ก็เท่ากับว่าเราดื่มน้ำเลือดน้ำหนองของคนตายนั่นเอง เรื่องราวที่ท่านเทศน์ส่วนใหญ่ก็จะประมาณนี้ เป็นความจริง แต่บางคนรับไม่ได้หาว่าหลวงพ่อท่านเทศน์ไม่น่าฟัง ส่วนใหญ่ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่น่าฟังสำหรับปุถุชน คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยชอบความจริงกัน

ก่อนจบขอถามคำถามง่าย ๆ ลองถามตัวเองดูหน่อยซิว่า พวกเราไปงานศพทำไม?

Friday, March 24, 2006

ชีวิตจริงเศร้ายิ่งกว่าละคร

วันนี้เดินทางมาร่วมงานศพของแฟนน้องคนนึงที่รู้จักกัน ฝ่ายชายเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุขณะขับรถออกจากมอเตอร์เวย์ ไม่มีใครแน่ใจว่าทำไมจู่ ๆ รถจึงเกิดเสียหลักพลิกไปหลายตลบสุดท้ายไปชนกับต้นไม้เสียชีวิตคาที่ แต่สภาพศพเหมือนไม่ได้โดนอะไรมาเลย ในร่างกายไม่มีรอยแผลใด ๆ มีเพียงรอยแผลที่หน้านิดเดียวเท่านั้น แม้หน่วยกู้ภัยที่เข้าไปช่วยชีวิตก็นึกว่าคนขับอาจจะเมาหลับอยู่ เพราะเห็นนั่งอยู่ในรถสภาพปกติเพียงแต่ก้มหน้าอยู่เท่านั้น ทุก ๆ คนทึ่ง งง สงสัย ว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น แต่ถ้ามองในมุมของกรรมแล้ว คงไม่มีอะไรแปลก มันเป็นเรื่องธรรมดา ถึงเวลาเกิดมันก็เกิด ตามเหตุปัจจัยอันสมควร ตามกรรมที่แต่ละคนพกติดตัวกันมาแต่หนหลังบวกกับกรรมใหม่ที่สมทบเข้ากองทุนแห่งกรรมในชาตินี้

ผู้ตายจบวิศวโยธาจากที่เดียวกับผม แต่ไม่รู้จักกันเนื่องจากเรียนคนละภาควิชาและคนละรุ่นกัน ฝ่ายหญิงเรียนจบแพทย์ ทั้งสองรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้น ม. ปลาย เพราะเรียนที่เดียวกัน ฝ่ายชายวางแผนไว้ว่าจะให้พ่อแม่ไปขอฝ่ายหญิงเดือนเมษายน แต่กลับมาเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ แทนที่จะได้จัดงานแต่งงาน แต่กลับกลายมาเป็นงานศพ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเศร้าพอสมควรสำหรับปุถุชน ทั้งญาติพี่น้องเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะพ่อแม่ เพราะกว่าจะเลี้ยงลูกหนึ่งคนให้เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยของรัฐได้ คงไม่ต้องบอกว่ายากลำบากขนาดไหน ตั้งแต่เลี้ยงลูกให้โต ผ่านช่วงชีวิตวัยรุ่นในชั้น ม. ปลาย สนับสนุนส่งเสริมพร้อมทั้งเคี่ยวเข็น จนสอบมหาวิทยาลัยของรัฐในคณะวิศวกรรมศาสตร์ และกว่าจะเรียนจบ สุดท้ายพึ่งจะได้ทำงานเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว กลับต้องมาเสียชีวิตลง คงไม่ต้องอธิบายว่าพ่อแม่ของผู้ตายจะรู้สึกระทมทุกข์เพียงใด

อีกฝ่ายที่ระทมทุกข์ไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ของผู้ตายนั่นก็คือ ฝ่ายหญิง ซึ่งเป็นคนรักที่คบกันมานานและวางแผนที่จะแต่งงานกันในอีกไม่ถึงหนึ่งเดือนข้างหน้านี้ ผมทราบมาว่าฝ่ายหญิงนั้นร้องไห้หนักพอสมควร แน่นอนเหตุการณ์นี้เป็นอารมณ์ที่ค่อนข้างหนักกระแทกเข้ากับจิตตรง ๆ สุดท้ายความทุกข์ที่ไม่มีทางออกก็กลายเป็นสายธารแห่งน้ำตา ต่อให้ผู้ที่ภาวนามาแล้วระดับหนึ่งมาเจออารมณ์ระดับนี้ก็ไม่แน่ว่าจะรับมือไม่ให้เกิดทุกข์ได้ แต่ผมว่าคงดีกว่าคนที่ไม่ได้ภาวนามาเลย อาจจะทุกข์น้อยกว่า อาจจะทุกข์ไม่นาน หรืออาจจะไม่ทุกข์เลย ขึ้นอยู่กับกำลังของสติว่าคนผู้นั้นมีมากน้อยเพียงใด

ขณะเดินทางผมแวะซื้อหนังสือ "เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน" เพื่อเอาไปฝากฝ่ายหญิง สำหรับฝ่ายชายชื่อหนังสือคงอธิบายไปเรียบร้อยแล้ว หนังสือเรื่องนี้อธิบายกฏแห่งกรรมให้คนธรรมดาฟังในภาษาที่ง่าย ๆ ทำให้เข้าใจกฏแห่งกรรมว่าทุก ๆ อย่างในชีวิตไม่ได้มีอะไรบังเอิญเลย ทุก ๆ อย่างล้วนมีเหตุปัจจัยมาทั้งนั้น สาเหตุที่ผมเลือกหนังสือเล่มนี้ เพราะชื่อของหนังสือค่อนข้างโดนใจ โดยเฉพาะกับคนที่พึ่งประสพเหตุการณ์แบบนี้หมาด ๆ บางคนอาจจะสงสัย ผมจะไม่ใจร้ายไปหน่อยหรือ คนเขากำลังทุกข์เพราะคนรักจากไปแม้แต่ศพก็ยังไม่ได้เผา ยังเอาหนังสือเล่มนี้ไปให้อีก จะไม่ทำให้ความทุกข์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรอกหรือ ผมขออธิบายดังนีจู่ ๆ ถ้าผมจะถือหนังสือธรรมะไปให้คน ๆ นึง ถ้าชีวิตเขายังปกติอยู่ไม่ได้เดือดร้อนมีความทุกข์อะไร (ทั้ง ๆ ที่รูปกับนามมันทุกข์อยู่ทั้งวันแต่เราไม่เคยเห็น) เกือบร้อยทั้งร้อยไม่มีใครอ่าน อย่างมากก็เก็บหนังสือไว้ในชั้นเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ถ้ามีเหตุสะเทือนใจแรง ๆ แบบนี้โอกาสที่จะอ่านนั้นสูงมาก และถ้าน้องเขาเกิดหันหน้าเข้ามาหาธรรมะผมก็จะได้สอนต่อยอดให้ฝึกเจริญสติ ตามแนวทางแห่งมหาสติปัฏฐานสูตรของพระพุทธเจ้า ชีวิตจะเปลี่ยนไปจนนึกไม่ถึง ไม่แน่อาจจะเข้ากระแสแห่งนิพพานตามที่บรมครูท่านสอนไว้ก็เป็นได้ ถ้าเกิดผลสุดท้ายเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ก็เท่ากับว่าการเสียชีวิตของแฟนหนุ่มไม่ได้เลวร้ายไปเสียทีเดียว อาจจะต้องขอบคุณที่การเปลี่ยนภพของเขาทำให้แฟนสาว ได้แผนที่ได้เข็มทิศในการเดินทางเพื่อมุ่งสู่เส้นทางแห่งความดับทุกข์ หรืออย่างน้อยชีวิตที่เหลืออยู่ก็ดำเนินได้ด้วยความเข้าใจทุกข์ และทุกข์ก็จะถูกบรรเทาไปโดยปริยาย

ถ้าหนังสือเล่มนี้ไม่มีประโยชน์เลยก็ไม่เป็นไรเพราะชีวิตที่ผ่านมา ผมสอนธรรมะคนมาจำนวนหนึ่ง หลายคนใส่ใจมุ่งมั่น หลายคนฟังแล้วเข้าใจแต่ไม่ยอมทำ หลายคนไม่เข้าใจแต่อยากทำ แต่หลาย ๆ คนทั้งไม่เข้าใจด้วยและไม่อยากฟังด้วย คนที่ไม่รู้ไม่สนธรรมะมีอยู่เป็นจำนวนมาก ผมมีหน้าที่เพียงโยนหินถามทาง ถามเข้าไปในใจของคนรอบข้างว่ามีใครสนใจธรรมะบ้าง ถ้าสนใจผมมีความรู้พอที่จะแบ่งปัน แต่ถ้าไม่สนใจก็ไม่เป็นไรต่างฝ่ายต่างดำเนินชิวิตไปตามปกติ เจอกันก็คุยกันเรื่องทั่ว ๆ ไป ช่วงแรก ๆ ผมพยายามสอนคนด้วยตัณหาหรือราคะ คือความอยากสอน พออยากสอนแล้วไม่ได้สอน หรือสอนเขาไม่ได้ ก็เกิดความหงุดหงิด เบื่อ อารมณ์เสีย สุดท้ายก็ทุกข์ กว่าจะรู้สึกตัวและกลับตัวได้ ว่าเอ...เรานี่เดินออกนอกเส้นทางของบรมครูไปไกลเสียแล้วก็ใช้เวลาอยู่เป็นแรมปี พระพุทธศาสนาสอนให้เราเดินไปในเส้นทางแห่งความดับทุกข์ แต่เราเองพอสอนคนไม่ได้ดั่งใจนิดหน่อยก็ทุกข์เสียแล้ว ช่วงหลังกลับตัวใหม่ สอนได้ก็สอน สอนไม่ได้ก็ไม่สอน มันไม่ใช่สาระที่เราจะไปทุกข์ ช่วงหลัง ๆ สอนแบบนี้ดูเผิน ๆ เหมือนกับว่าเราไม่ได้ใส่ใจคนที่เราสอน แต่ปรากฏว่า แบบนี้กลับดียิ่งกว่าแบบเดิม เพราะเราไม่ทุกข์เนื่องจากธรรมะ คนที่เราจะสอนก็ไม่ทุกข์เนื่องจากธรรมะเช่นกัน เวลาสอนก็ได้ประสิทธิภาพประสิทธิผลมากกว่า เพราะไม่มีความอยากเข้าไปเจือปน ที่เขียนเรื่องนี้มายืดยาวเผื่อเป็นคติเตือนใจ เป็นแนวทางสำหรับคนที่อยากให้ธรรมะกับคนอื่น แต่พอเขาไม่สนใจฝ่ายเรากลับเป็นทุกข์เสียเอง ชีวิตของเรานั้นมีทุกข์มากเพียงพออยู่แล้ว อย่าให้ความโง่เขลาของเรานำเอาธรรมะอันบริสุทธิ์ของพระพุทธองค์มาเป็นสาเหตุแห่งทุกข์เผาใจตัวเองอีกต่อไปเลย

ลืมเล่าไปว่า ขณะที่น้องเขารับหนังสือ น้ำตาก็พร่างพรูออกมาอีกระรอก จิตใจก็นึกถึงแต่คนที่นอนแน่นิ่งอยู่ในโลง ต้องใช้เวลานานพอควรจึงสงบสติอารมณ์กลับมาสู่สภาวะปกติได้ ถือซะว่าเป็นการฉีดยาก็แล้วกัน อาจจะเจ็บบ้างนิดหน่อย แต่ก็คุ้มมิใช่หรือที่อาจจะทำให้หายขาดจากโรคทุกข์ที่ใจเราติดเชื้อมาแสนเนิ่นนาน

Friday, January 27, 2006

เคล็ดวิชาไร้กระบี่ไร้ใจ (ครั้งที่ ๖)

เข้ามาสัมมนาเกี่ยวกับจาวาที่บางกอก ก็เลยถือโอกาสลาวันนี้ พาเพื่อน ๆ ไปกราบอาจารย์ที่ จังหวัดกาญจนบุรี ไปกันทั้งหมด ๘ คน ขณะที่ไปถึงอาจารย์กำลังสอนช่วงแรกอยู่พอดี ท่านอาจารย์ทักทายนิดหน่อย ถามว่ามากันกี่คน เสร็จแล้วท่านก็มารับประเคนอาหาร ให้พรแล้วท่านก็เริ่มฉันอาหาร ส่วนพวกเราก็แยกย้ายกันไปกินข้าวตามธรรมเนียมปฏิบัติของที่นี่

หลังจากกินอิ่มกันแล้วก็เข้ามานั่งฟังเทศน์กันอีกรอบ คราวนี้อาจารย์เริ่มสอน เนื้อหาส่วนใหญ่ก็คล้าย ๆ กับที่เคยฟังมา ท่านอาจารย์อธิบายว่า ที่ท่านนั่งพูด แล้วเรานั่งฟังอยู่เนี่ยเป็นธรรมของปลอม ธรรมของจริงต้องปฏิบัติเอาเองเท่านั้น และที่ท่านพูด ๆ อยู่ก็พูดเป็นเพื่อนไปเท่านั้น ท่านพยายามให้เราเรียนรู้ด้วยตนเองว่า สภาวะต่าง ๆ ของจิตนั้นเป็นยังไง หลงเป็นยังไง รู้สึกตัวมีสติ เป็นยังไง ถ้าใครเป็นแล้ว แม้จะอยู่บ้านก็ภาวนาได้ ไม่จำเป็นต้องมาวัด

วันนี้ให้น้องชายนั่งหน้าสุด เผื่อว่าเขาจะมีคำถามอะไรถามท่านอาจารย์ ปรากฏว่าวันนี้ไม่ถามอะไรเลย และอาจารย์ก็ไม่ทักเหมือนคราวที่แล้ว แสดงว่าภาวนาใช้ได้ ส่วนเพื่อนคนอื่น ๆ ก็โดนกันไปตามระเบียบ บางคนโดนบ่อยหน่อย แต่บางคนไม่โดนเลยเพราะ ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย ส่วนเรานั้นจิตมันพยายามจะมีสติเพราะว่านั่งอยู่ต่อหน้าท่าน มันก็เลยไม่เป็นธรรมชาติเท่าไหร่

มีเพื่อนคนนึงเผลอบ่อย ท่านอาจารย์ก็เลยทักบ่อย แล้วท่านอาจารย์ก็เลยถามว่า "เคยฝึกมาจากที่ไหนหรือเปล่า" เค้าก็เลยตอบว่า "เพื่อนสอนมาครับ" อาจารย์ท่านก็เลยบอกว่า "อืม เพื่อนสอนมาดีนะ" เราก็แอบภูมิใจเล็กน้อย (มากไม่ได้เดี๋ยเหลิง)

ก่อนกลับเข้าไปกราบท่านอีกที ท่านก็บอกเราว่า "เรายังประคองอยู่นิดนึงนะ ปกติอยู่ที่บ้านเป็นแบบนี้หรือเปล่า" ก็ตอบท่านไปว่า "ไม่ครับ อยู่ต่อหน้าอาจารย์มันก็เลยเป็นแบบนี้" แล้วท่านก็บอกว่า "ก็ดีแล้วหละ ทีมนี้ภาวนาใช้ได้หลายคนนะ" แล้วก็พากันลากลับเพื่อไปซื้อของที่กรุงเทพฯ

ย้อนกลับไปขณะที่ท่านกำลังสอนอยู่ มีพี่คนนึงสนทนากับท่านว่า ชอบวิธีการภาวนาของอาจารย์มาก เพราะสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเดินจงกรม นั่งล้างจาน ขับรถ ทำสวน ฯ พี่เขาบอกว่าไม่เหมือนที่อื่นที่เน้น ทองพองยุบ ลมหายใน พุทโธ แต่ที่อาจารย์สอนเนี่ยสุดยอด เพราะเหมือนกับเคล็ดวิชา "กระบี่อยู่ที่ใจ" ไม่ว่าจะหยิบจับอะไรเป็นอาวุธในการภาวนาได้หมด

ท่านอาจารย์ก็เลยเล่าให้ฟังว่าเคยมีคนมาชมอาจารย์เหมือนกันว่าเคล็ดวิชาในการภาวนาของอาจารย์เนี่ยเป็นเคล็ดวิชา "กระบี่อยู่ที่ใจ" ท่านอาจารย์ก็เลยตอบว่า ยังประเมินท่านต่ำไปหนึ่งขั้น (ท่านเล่าด้วยบรรยากาศสนุกสนานเหมือนเล่าหนังจีนกำลังภายใน มิได้เป็นลักษณะโอ้อวดแต่อย่างใด) เพราะจริง ๆ แล้วเคล็ดวิชาของท่านคือ "ไร้กระบี่ไร้ใจ" เพราะถ้ายังมีกระบี่ หรือยังมีใจอยู่เมื่อนั้นก็จะยังมีทุกข์อยู่.... เพราะฉะนั้นสุดยอดวิชาต้อง "ไร้กระบี่ไร้ใจ"